นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) กล่าวว่า บริษัทยังรักษาปริมาณการขายในไตรมาส 2/66 ให้อยู่ในระดับที่ดีได้ แต่ก็อาจมีผลกระทบจากบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยอีทอกซีเลท จำกัด และโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ที่ดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีจะมุ่งเน้นการเพิ่มยอดขาย และบริหารสต็อกน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหา Stock loss และลดผลกระทบที่จะมีต่อผลประกอบการ
ด้านโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 1 ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของโรงหีบอ้อยเรียบร้อยแล้วในไตรมาส 1/66 และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ในไตรมาส 4/66 จะมีการ COD Ethanol & HTM Plant ส่วนโครงการนครสวรร์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 จะเป็นการเตรียมความพร้อม Utility ให้กับกลุ่ม เนเจอร์เวิร์ค ประเทศสหรัฐ ผู้ผลิตไบโอพลาสติก ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วถึง 40% เป็นไปตามแผน โดยคาดจะสามารถ COD ได้ในปี 67
นายกฤษฎา กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลัง ธุรกิจหลัก (Core Business) คือ ธุรกิจเมทิลเอสเทอร์ หรือไบโอดีเซล ยังมีการเติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบจากครึ่งปีแรก เนื่องจากการนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐให้มีการเพิ่มสัดส่วน B7 ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างติดตามผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนกลุ่มธุรกิจแฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก หากภาพรวมการส่งออกได้รับผลกระทบกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบเช่นกัน แต่บริษัทพยายามปรับการดำเนินงานให้ยังคงระดับของอัตรากำไรให้ยังคงดี เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน มุ่งเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบันตามแผนการเติบโตของธุรกิจที่จะมีความก้าวหน้าในช่วงครึ่งปีหลังอย่างชัดเจน
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ตลาดและธุรกิจในครึ่งแรกของปี 66 ความต้องการเมทิลเอสเทอร์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน จากนโยบายภาครัฐที่ให้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนผสม B7 ที่ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.66 หลังจากราคาน้ำมันปาล์มดิบเริ่มปรับตัวลดลงมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ความต้องการโดยรวมของเมทิลเอสเทอร์เพิ่มสูงขึ้น
“ในไตรมาส 2/66 และช่วงครึ่งปีหลังนี้ ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลง รวมถึงการเปิดประเทศที่มีประชากรจำนวนมากอย่างจีน ก็ทำให้ดีมานด์กลับมาดีขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตกลับมาดีขึ้น ทำให้อินโดนีเซียที่ก่อนหน้านี้ออกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มได้ยกเลิกมาตรการไป ทำให้แม้มีดีมานด์เพิ่มขึ้นแต่ก็มีซัพพลายมากขึ้นด้วย จึงมองว่าระดับราคาน้ำมันปาล์มน่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนราคา CPKO มองมีสถานการณ์คล้ายกับ CPO ประกอบกับยังมีปัจจัยลบเพิ่ม จากเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้งานใน home and personal care และกดดันราคา CPKO”นายกฤษฎา กล่าว
ขณะที่แฟตตี้แอลกอฮอล์ มีแนวโน้มทรงตัวในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากสภาวะเศษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ ขณะที่ด้านอุปทานโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายในต่างประเทศกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติหลังจากหยุดซ่อมบำรุงไป รวมถึงการยกเลิกนโยบาย Domestic Market Obligation (DMO) ของอินโดนีเซียที่ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกแฟตตี้แอลกอฮอล์ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น
กลีเซอรีน แนวโน้มในครึ่งปีแรกปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม Epichlorohydrin ในจีนซึ่งเป็นตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งสถานการณ์เศษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนไหวมีผลต่อกำลังซื้อ ด้านอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราการผสมไบโอดีเซลมากขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้อุปทานโดยรวมของผลิตภัณฑ์พลอยได้อย่างกลีเซอรีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปด้วย
เอทานอล แนวโน้มปรับลดลงจากมาตรการของรัฐลดการสนับสนุนราคาน้ำมัน E85 เพื่อช่วยพยุงฐานะของกองทุนน้ำมัน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเกรดดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ราคาเอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตเอทานอลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาตลาดเอทานอลเฉลี่ยโดยรวมในตลาดปรับตัวสูงขึ้น
ด้านผลการดำเนินงานของ GGC ในไตรมาส 1/66 บริษัทมีรายได้จากการขายรวมทั้งหมด 4,662 ล้านบาท มี Adjusted EBITDA อยู่ที่ 281 ล้านบาท (ซึ่งหักผลกระทบ Stock Loss แล้ว) และมีกำไรสุทธิ 40 ล้านบาท ลดลง 92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน
ธุรกิจเมทิลเอสเทอร์ในไตรมาส 1/66 มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% จากนโยบายของภาครัฐที่มีการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจาก B5 เป็น B7 ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปรับตัวลดลงตามราคาในต่างประเทศ เนื่องจากการที่ระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในมาเลเซียและอินโดนีเซียอยู่ในระดับสูง เพราะปริมาณผลผลิตเก็บเกี่ยวดีขึ้น เช่นเดียวกับระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้ ธุรกิจกลีเซอรีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ ราคาปรับตัวลดลง 59% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 650 เหรียญฯ/ตัน เนื่องจากอุปทานเพิ่มขึ้นจากการผลิตไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้ปรับตัวลดลง ทำให้ปีนี้ยังเป็นปีที่ยากลำบากของกลีเซอรีน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะปรับปรุงในเรื่องของผลการดำเนินงาน ผ่านการมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ธุรกิจแฟตตี้แอลกอฮอล์ในไตรมาส 1/66 มีปริมาณการขายลดลงเล็กน้อย 7% จากปีก่อน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้ลดลง ประกอบกับราคาแฟตตี้แอลกอฮอล์ปรับลดลง 44% จากปีก่อน เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหญ่ในต่างประเทศกลับมาผลิตได้เต็มกำลัง รวมถึงมีผู้ผลิตแฟตตี้แอซิด (Fatty Acids) หลายราย ได้ปรับเปลี่ยนมาผลิตเป็นแฟตตี้แอลกอฮอล์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่ผันผวน GGC ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ “The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business” ในการสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมี เพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่โดดเด่นและเป็นองค์กรต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 66)
Tags: GGC, กฤษฎา ประเสริฐสุโข, โกลบอลกรีนเคมิคอล