นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเซ็น MOU ของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรควานนี้ (22 พ.ค.) ว่า เป็นแค่การทำงานวาระร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนของพรรคก้าวไกล 300 นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ พรรคฯ พยายามผลักดันต่อ เพื่อให้สำเร็จมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกัน ยังมีวาระเฉพาะของพรรคฯ ที่จะผลักดันผ่าน 3 กลไก ได้แก่
1. กลไกของบริหาร ในฐานะที่ตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีอำนาจในการบริหารจัดการ เพื่อให้วาระของพรรคก้าวไกลที่ได้นำเสนอไว้ เกิดผลการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
2. รัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ในการพรรค จะผลักดันวาระที่อาจจะไม่ได้อยู่ใน MOU แต่เป็นนโยบาย 300 นโยบายที่เคยนำเสนอไว้
3. แม้ว่าพรรคฯ อาจจะไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวงนโยบายเหล่านั้น แต่ก็ยังสามารถผลักดันผ่านการประสานงานของรัฐบาลร่วม การพูดคุยเจรจา เพื่อให้รัฐมนตรีท่านนั้น สามารถผลักดันนโยบายของพรรคฯ ได้ ซึ่งเป็นกลไกที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายที่ได้พูดคุยไว้ผ่านอำนาจบริหาร
อย่างไรก็ดี หลายเรื่องเป็นเรื่องของนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 กฎหมายที่ได้สัญญากับประชาชนไว้ในการผลักดัน เนื่องจากพรรคฯ มีส.ส. 152 คน ก็สามารถผ่านกฎหมาย เกิดการถกเถียง เกิดกรรมาธิการ เพื่อให้มีการผ่านสภาเป็นกฎหมายในการผลักดันให้อำนาจบริหารมีอำนาจกฎหมายรองรับ อาทิ พ.ร.บ.น้ำประปาสะอาด พ.ร.บ.PRTR การบริหารสิ่งแวดล้อม และพ.ร.บ.รับรองคำนำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น
“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราพูดคุยกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในวาระร่วมของพรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่ว่าในเรื่องของกฎหมาย มีหลายกฎหมายที่จะผลักดันเข้าไป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่เราได้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชนได้จริง ขณะเดียวกัน หลายประเด็นที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องลำบากและต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านตัวกฎหมายที่ก้าวหน้า หรือผ่านการบริหารงานของรัฐบาลก็ยังมีวาระเฉพาะที่สามารถที่จะผลักดันได้เช่นเดียวกัน” นายพิธา กล่าว
ส่วนกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล แสดงความกังวลเรื่องการทำ MOU นายพิธา กล่าวว่า ตนเข้าใจความกังวล แต่ข้อความก็เป็นข้อความที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง MOU กับรัฐธรรมนูญไปในทิศทางเดียวกัน ตนมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หรือไม่มีความเข้าใจผิดอะไรในภาพรวม
นายพิธา กล่าวถึงขั้นตอนหลังการลงนาม MOU ว่า จะเป็นการเดินสายร่วมกับกลุ่มประชาชน และเชิญพรรคร่วมมารับฟังมากขึ้น คุยกับคนที่ต้องได้รับผลกระทบและรับฟังอย่างรอบคอบ ต่อมาต้องทำนโยบายร่วมเพื่อแถลงต่อรัฐสภา
สำหรับการสร้างเสถียรภาพในตลาดทุน น่าจะต้องมีการพูดคุยว่าไทยกลับมาสู่ระบบประชาธิปไตยแล้ว และเจตจำนงของประชาชนจะไม่สูญเปล่า
สำหรับในส่วนของรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ นายพิธา รับประกันว่าจะนำคนที่เหมาะกับงานหรือมีความรู้กับกระทรวงนั้นๆ มาเป็นคนที่ทำหน้าที่บริหารตรงนี้แน่นอน ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในบริบทนี้
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คือความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในส่วนของพรรคฯ ได้ให้ความชัดเจนใน 2 ประเด็นแล้ว คือ 1. การเซ็น MOU ร่วมกัน 8 พรรค มีส.ส. 313 เสียง ซึ่งถือว่ามีเสถียรภาพแล้ว และ 2. ความชัดเจนของวาระร่วมรัฐบาลขั้นต่ำจาก MOU
อย่างไรก็ดี หากอยากให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นอยากให้ส.ว. รีบออกมายืนยันว่าพร้อมเคารพเสียงข้างมากของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง และสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่สามารถรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของส.ส. ตามหลักประชาธิปไตยสากล
“พรรคฯ พร้อมพูดคุยและชี้แจงข้อกังวลทั้งหมด.. ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องของพรรคฯ ไม่ได้เรียกร้องให้ส.ว. ต้องนิยมชมชอบพรรคฯ เป็นการเฉพาะ แต่ขอเพียงแค่ให้เคารพเสียงของประชาชน หลายท่านเคยให้เหตุผลไว้เมื่อปี 62 ว่าสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะพล.อ.ประยุทธ์ สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของส.ส. ดังนั้น ขอให้ท่านยึดหลักการเดิมเมื่อปี 62 และสนับสนุนนายพิธา เป็นนายก ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำด้วยเหตุผลเดียวกัน” นายพริษฐ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 66)
Tags: MOU, การเมือง, จัดตั้งรัฐบาล, พรรคก้าวไกล, พริษฐ์ วัชรสินธุ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เลือกตั้ง