จับตาดีล “ขันเงิน” ฮุบ MPIC ต่อยอดธุรกิจกลุ่ม “ไทเทฯ” บันเทิง-เบฟเวอเรจ หนุนเป้าดันเข้าตลาดหุ้น

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ คาดว่า ดีลที่แรพเปอร์ชื่อดัง “ขันเงิน เนื้อนวล” แห่งวงไทเทเนี่ยม เข้าซื้อหุ้น บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (MPIC) จาก บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ในสัดส่วน 92.46% ที่ราคาหุ้นละ 0.54 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 650 ล้านบาท ซึ่งทำให้ราคาหุ้น MPIC วันนี้ดีดขึ้นอย่างร้อนแรงชีลลิ่งแม้ว่าราคาซื้อขายจะต่ำกว่าราคาในกระดานมาก อาจเป็นเพราะมองผลดีต่อการต่อยอดธุรกิจภายใต้การบริหารของนายขันเงิน ซึ่งมีเป้าหมายจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“การซื้อหุ้น MPIC ของขันเงิน เท่าที่ทราบน่าจะมีการนำ MPIC ไปต่อยอดในส่วนธุรกิจของด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และเกี่ยวข้องกับวงการบันเทิง ซึ่งเป็นงานที่ขันเงินทำอยู่และมีประสบการณ์ สามารถนำมาต่อยอด MPIC ไปในธุรกิจอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ด้านเพลง การจัดงานอีเว้นท์ และคอนเสิร์ตไทยและต่างประเทศ” แหล่งข่าว ระบุ

ในช่วงปลายปี 65 วง THAITANIUM ได้เปิดตัวธุรกิจ Energy Drink แบรนด์ POWER ภายใต้ บริษัท ไทยเทเนี่ยม เบฟเวอเรจ จำกัด ซึ่งนายขันเงิน เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่ามีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทก่อนจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี รวมถึงมีแผนดึงศิลปินที่มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตัวเองเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย

นอกจากนั้น นายขันเงิน ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ทำอยู่เกี่ยวข้องกับด้านบันเทิง ศิลปะ เพลง รายการทีวี และ สันทนาการ นอกเหนือจากการเป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัท ไทยเทเนี่ยม เบฟเวอเรจ จำกัด ยังเป็นกรรมการใน บริษัท ไทยเทเนี่ยม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด, บริษัท ไทยเทเนียม พับลิชชิ่ง, บริษัท บีเจ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด 4 กันยายน

แหล่งข่าว กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลว่าดีลที่ MAJOR ขายหุ้น MPIC น้น ก่อนหน้านี้มีผู้สนใจหลายราย รวมถึงนายขันเงิน ที่มาพร้อมกับนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ซึ่งเป็นที่ปรึกษา เข้ามาเจรจากับทาง MAJOR จนได้ข้อสรุปการทำ MOU ตกลงซื้อขายกันก่อนหน้านี้

แม้จะมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ธุรกิจหลักของ MPIC ที่ทำอยู่น่าจะยังคงดำเนินต่อไป ได้แก่ การจัดซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ รวมถึงการผลิตภาพยนตร์ไทย ซึ่งในส่วนของการผลิตภาพยนตร์ไทยที่ทำร่วมกับ MAJOR ก็จะยังอยู่ในฐานะพันธมิตรกันต่อไป ควบคู่ไปกับการหาโอกาสใหม่ๆ ทางด้านธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถตรงกับความต้องการกับคนรุ่นใหม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top