เลือกตั้ง’66: บล็อกเชนป้องกันการโกงเลือกตั้งได้จริงหรือ!?

“การเลือกตั้ง” นั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการในระบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนนั้นสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการเข้าคูหาเพื่อเลือกตัวแทนเข้าสู่สภา ซึ่งทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยรอคอยและคาดหวังว่าจะเห็นประเทศไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราจะได้เห็นข้อครหารวมไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งล่วงหน้าจนก่อให้เกิดการล่ารายชื่อถอนถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลยทีเดียว

ซึ่งเหตุการณ์ความไม่พอใจในลักษณะนี้รวมไปถึงความผิดพลาดในการทำงานที่เกิดขึ้นจริงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เป็นการเกิดขึ้นซ้ำ ๆ มาหลายครั้งและในแต่ละกรณีก็มีความละเอียดอ่อนไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดแนวคิดว่าหากเรานำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาบริหารและจัดการในระบอบการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาได้หรือไม่!?

นายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (CIO) บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทยภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ ให้ความเห็นถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

นายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (CIO) บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด

การเลือกตั้งด้วยระบบ Blockchain จะแก้ปัญหาได้หรือเปล่า?

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) นั้นเป็นระบบฐานข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ทำให้มันดูเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศไหนบนโลกที่ทำการเลือกตั้งสาธารณะด้วยระบบ Blockchain หรือแม้แต่ระบบดิจิทัลทั่วไปเลย

สาเหตุสำคัญคือในกระบวนการเลือกตั้งนั้นมีหลายองค์ประกอบมาก การใช้ระบบ Digital หรือแม้แต่ Blockchain นั้นเป็นการแก้ไขปัญหาได้เพียงบางส่วนเท่านั้นเช่นการแก้ปัญหาด้าน Software แต่ในกระบวนการเลือกตั้งนั้นยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีก

การ Hack อุปกรณ์ที่ใช้ในการโหวต

การนำ Blokchain มาใช้ในการเลือกตั้งนั้นในเชิงทฤษฎีได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีจนก่อให้เกิดการนำไปลองใช้ในการเลือกตั้งแบบปิด โดยปี 2561 ที่ผ่านมาก็มีกรณีตัวอย่างของการใช้งาน Public Blockchain ในการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้ Public Blockchain ของ Zcoin โดยการฝังข้อมูลลง IPFS และฝังไปกับ Hash

แต่ประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดคือความเสี่ยงทางด้าน Hardware เนื่องจากในทาง Cybersecurity แล้วอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดล้วนรวมถึงซอฟต์แวร์แล้วเป็นสิ่งที่สามารถูก Hack ได้ ยิ่งถ้ามันต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือถ้าพูดง่าย ๆ คือระบบอาจจะไม่มีปัญหาแต่ข้อมูลที่ถูกส่งไปยังระบบอาจถูกการปลอมแปลงได้

ภายในงาน DEF CON ปี 2561 ซึ่งเป็นหนึ่งในงาน Conference ของ Hacker ที่ใหญ่ที่สุดได้จัดหัวข้อ Voting Machine Village ซึ่งเป็นงานที่จะให้ Hacker ได้ทดสอบความปลอดภัยของระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการโหวตทุก ๆ ส่วนไม่ว่าจะเป็นระบบลงทะเบียน ระบบการลงคะแนน ซึ่งในตอนท้าย ผู้กล่าวงานก็ได้พูดถึงผลของการโหวตว่า

“หลังจากจบงานวันนี้เราพบว่าอุปกรณ์ทุกชนิดใน Voting Village นั้นถูกเจาะได้สำเร็จ โดยมีผลลัพท์ที่แตกต่างกันไป ผู้เข้าร่วมงานบางคนที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญและไม่ได้มีเครื่องมือเฉพาะทางอะไร ก็ยังสามารถที่จะเจาะระบบได้”

สิ่งที่น่ากลัวคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลถูกปลอมแปลง และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเก็บข้อมูลแบบศูนย์กลาง คือหากมีการ Hack อุปกรณ์และเวลาผ่านไปเมื่อเรามาตรวจสอบระบบ มันอาจจะไม่มีข้อมูลหลงเหลือว่ามีการปลอมแปลงอะไรไปบ้าง แล้วหากมีส่วนใดส่วนหนึ่งโดนเจาะแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าส่วนที่เหลือยังปลอดภัย

ซึ่งหลังจากงานนี้แล้วก็ได้มีการรายงานจุดบกพร่องไปให้แก่ผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากจีน ซึ่งลองนึกภาพตามว่าเครื่องมือที่ใช้ในการโหวตนั้นถูกสร้างมาจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายส่วน ถ้า Hacker ตั้งเป้าไปที่การเจาะอุปกรณ์ซักชิ้นหนึ่งและทำได้สำเร็จก็เท่ากับว่าเครื่องมือทั้งชุดโดนเจาะไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ได้มีรายงานออกมาว่าทางอุปกรณ์การโหวตตัวต้นแบบที่ถูกสนับสนุนโดย DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) สามารถรอดพ้นจากความพยายามในการ Hack ในงาน Devcon ปี 2563 ได้ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่ดีที่เราอาจจะเห็นการเลือกตั้งด้วยระบบดิจิทัลไม่ว่ามันจะเป็น Blockchain หรือไม่ก็ตาม

ดังนั้นแล้วการเลือกตั้งด้วยเทคโนโลยี Blockchain นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าองค์ประกอบอื่น ๆ ยังเป็นความเสี่ยงอยู่โดยเฉพาะในเรื่องของ Hardware ที่ใช้ในการเลือกตั้งรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น โอกาสที่จะมีการซื้อสิทธิขายเสียง แม้ระบบเลือกตั้งที่สามารถตรวจสอบได้จากประชาชนจะเป็นข้อดี แต่หากมองกลับกันนั้นเท่ากับว่าผู้ที่คิดจะซื้อสิทธิขายเสียงก็ทำได้เช่นกัน เพราะมีข้อมูลที่ระบุความเป็นเจ้าของเสียง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top