นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย นำทีมแถลงข่าวเพื่อประกาศฟื้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง โดยระบุว่า คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย มีความพร้อมในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เพื่อประโยชน์ประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมย้ำว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นการเชื่อมประสานกัน เพื่อความมุ่งหมายหลัก คือ “ประชาธิปไตยกินได้” คือ เศรษฐกิจควบคู่การเมือง เศรษฐกิจจะดีได้ประชาชนต้องมีเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพและโอกาสในการใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างเป็นธรรม
“หลักสำคัญ เรายึดหลักรดน้ำที่ราก ต้นไม้เศรษฐกิจของเราจึงจะแข็งแรงมั่นคงไปด้วยกัน ประชาชนทุกกลุ่มได้ประโยชน์ด้วยกัน ทุกส่วนมีรายได้เกื้อหนุนกัน คนรุ่นใหม่เติบโตด้วยความหวัง มีงานทำ มีโอกาสหารายได้ใหม่” นพ.พรหมินทร์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา พรรคฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกับนโยบายของพรรค และเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยใช้เวลากว่า 6 ปี ในการกลั่นกรองนโยบาย และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราได้เร่งนำนโยบายไปหารือกับทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับข้อเสนอเพิ่มเติมในรายละเอียดที่เป็นข้อห่วงใยแก้ไข ซึ่งพรรคฯ ได้นำกลับมาปรับแก้ไขเพื่อให้เกิดความกลมกล่อมในการบริหารเศรษฐกิจในแบบเพื่อไทย จัดสรรแบ่งปันประโยชน์ให้ทุกภาคส่วน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เติบโตและเดินไปพร้อมกัน
“ขอยืนยันว่า นโยบายเหล่านี้พร้อมทำได้จริง ทำได้ทันที เชื่อในพรรคเพื่อไทย สามารถฟื้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ฟื้นคืนเกียรติภูมิประเทศไทยในเวทีโลกอีกครั้ง…เราพร้อมแล้วทุกด้าน ผู้นำพร้อม นโยบายพร้อม ทีมงานพร้อม เลือกเพื่อไทย เพื่อสร้างความมั่งคั่ง เลือกเพื่อไทย เพื่อขจัดความยากจน เลือกเพื่อไทย เพื่อเปลี่ยนความฝันให้เป็นความหวัง เลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ เปลี่ยนประเทศทันที” นพ.พรหมินทร์ กล่าว
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยอยู่บนพื้นฐานการหยิบยื่นโอกาสให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้ สร้างความมั่งคั่ง ทำให้เศรษฐกิจโต เพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินเพียงพอในการดูแลประชาชนไม่ให้ตกหล่น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ยึดถือมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลในช่วงที่ประเทศเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจภายในขาดความมั่นใจ ฟื้นตัวยาก จึงได้ดำเนินนโยบายอย่างครบถ้วน ครอบคลุม ตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน ให้สินเชื่อธุรกิจรายย่อย โครงการโอทอป สร้างผลิตภัณฑ์และหาตลาด ลดภาระหนี้เกษตรกร พร้อมขับเคลื่อนการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ จนเกิดเป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และกำลังไปเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิวัติก่อน
ผลจากการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ในช่วงเวลา 6 ปีนั้น ทำให้ GDP ไทยโตเฉลี่ย 5.4% เทียบกับเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ทหารเข้ามายึดอำนาจ ปี 2557-2562 ไทยมี GDP โตเพียง 3% ต่อปี ทั้งนี้ การที่ GDP ไทยโตเร็ว จะสามารถแก้หนี้สาธารณะได้ เช่นตอนที่พรรคไทยรักไทยเข้ามารับตำแหน่ง หนี้สาธารณะอยู่ที่ 58% ของ GDP เมื่อถูกปฏิวัติ หนี้สาธารณะของไทยเหลือ 39% ของ GDP ล้วนมาจากแนวคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภาพใหญ่และภาพเล็ก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
แนวคิดนี้ต่างจากรัฐสวัสดิการ ตรงที่รัฐสวัสดิการต้องให้รัฐบาลมีขนาดใหญ่มากๆ ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย รัฐบาลต้องกำกับทุกอย่าง ดังนั้น จึงเป็นแนวคิดที่แตกต่างกับพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้รัฐบาลมีขนาดไม่ใหญ่มาก คือ การกระจายอำนาจ เพราะว่าเราเชื่อว่าประชาชนมีความสามารถ โดยมีรัฐบาลเพื่อไทยเป็นทีมขับเคลื่อนอยู่ข้างหลัง” นายศุภวุฒิกล่าว
พร้อมยกตัวอย่างโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ในเชิงเศรษฐกิจ สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงการประกันสุขภาพจาก 69% ในปี 2544 เพิ่มขึ้นเป็น 97% ในปี 2549 ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขไปได้ 20 ล้านคน และช่วยให้คนไม่เข้าสู่เสี่ยงล้มละลายเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลถึง 2 แสนครอบครัว โดยที่การใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ยังคงเท่ากับ 3.1% ทั้งในปี 2544 และปี 2549 ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะมากจาก GDP โตขึ้น คือ Smart Government ที่ให้เกิดขึ้น
ในขั้นต่อไป เราจะอัปเกรดโครงสร้างภาคสาธารณสุขให้สมบูรณ์ดีกว่าเดิม ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพรายบุคคลมากกว่าแค่การรักษาทุกโรค พร้อมดูแลให้คนอายุน้อยมีคุณภาพที่ดีตั้งแต่เด็ก
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และพบว่าเอสเอ็มอีในประเทศเริ่มมีปัญหาทางการเงิน เป็นหนี้สงสัยจะสูญ จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้ฟื้นตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเป็นต้นไป
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยได้รับการติดต่อจากประเทศต่างๆ กำลังสนใจเจรจาการค้าและเศรษฐกิจ อาทิ นักลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ รวมถึงญี่ปุ่นที่มีเม็ดเงิน 5,000 ล้านเหรียญ สำหรับการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาเป็นประเทศอื่น หรือการที่สิงคโปร์ขึ้นภาษีชาวต่างชาติที่ซื้อบ้านในสิงคโปร์จาก 30% เป็น 60% ทำให้เขาเริ่มมองหาประเทศอื่นแทน ซึ่งเรามองว่าเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสของประเทศไทยทั้งสิ้น
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การทำให้เศรษฐกิจเติบโต ไม่ใช่เพียงแต่ด้านอุปสงค์ กำลังซื้อ หรือความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศเท่านั้น ฝั่งการผลิตหรืออุปทานถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เช่น ปัญหา IUU ที่ทำให้เรือประมงหายไปกว่า 30,000 ลำ ทั้งที่สามารถผลิตอาหารทะเลป้อนตลาด และส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งฝั่งอุปทานหายไป ไม่มีความใส่ใจแก้ไข
รวมทั้งอุตสาหกรรมภาคการผลิต ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจการเกษตร ที่ต้องเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆมีรายได้ที่สูงขึ้น สอดคล้องกับผลิตภาพที่สูงขึ้นด้วย เมื่อมีรายได้ที่ดี ผู้ประกอบการจะสามารถจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้นได้
“ขอให้ภาคการผลิต ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน เกษตรกรทุกสาขา มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลในยุคไทยรักไทย รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญเรื่องวินัยการเงินการคลังเป็นอย่างยิ่ง นโยบายด้านภาคการผลิต ที่จะต้องผลักดันในช่วงต้นๆ ต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงิน การคลัง อย่างรอบด้าน” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนนโยบาย “โฉนดถ้วนหน้า 50 ล้านไร่” ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเอาโฉนดมาซื้อใจประชาชนอยู่ในป่าที่สาธารณะหรือไม่นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนจำนวนมากอาศัยบนที่ดินทำกินนั้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลายาวนาน และโดยข้อกฎหมายควรจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นโยบายโฉนดถ้วนหน้า 50 ล้านไร่ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิ์อันควร ถือเป็นหน้าที่ และจะมีผลทางเศรษฐกิจ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในระบบนิเวศควบคู่ไปกับนำเอาที่ดินเป็นหลักประกันสินเชื่อไปปรับปรุงพื้นที่การผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้นและดีขึ้น ส่งผลไปถึงการลดปัญหา PM 2.5 การท่องเที่ยวจะดีขึ้นด้วย
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสงครามการค้า โรคระบาด ความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น อาหารแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน
พรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างรายได้ สร้างงานให้กับประชาชน เกษตรกร ภาคการผลิต และเอสเอ็มอี ที่ผ่านมา ในรัฐบาลไทยรักไทยมีแนวคิดเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน คือ Dual track policy คือ การให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดนี้ยังทันสมัย และเรามีนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มเติม ทุกอย่างจะสามารถส่งเสริมกันในการกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย
สำหรับในนโยบายการค้าต่างประเทศ หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มี 3 ด้าน
1.เป็นมิตรทางการค้ากับทุกประเทศ โดยไม่เลือกข้าง เพราะการค้าคือหัวใจในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น
2.ดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยขณะนี้จีนมีแนวคิดย้ายฐานการผลิต ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย ดังนั้นหากเร่งแก้ไขกฎหมาย และอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนมาตรการทางภาษี ก็จะทำให้ต่างชาติเพิ่มความสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น
3.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเจรจาการค้า ทั้งในระดับพหุภาคี และทวิภาคี และจะเจรจาเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่คืบหน้า ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะ FTA ไทย-อียู ถือเป็น Quick win ที่จะเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากเป็นไปได้ ส่วนกลุ่มที่น่าสนใจในการเปิดการค้า FTA ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล กรรมการ เลขานุการ และโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการเลือกตั้งที่จะเห็นมิติการเปลี่ยนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ปัญหาทั้งหนี้ของประชาชน และหนี้ของประเทศ ประชาชนเดือดร้อน ธุรกิจล้มตาย และยังโดนตอกย้ำจากวิกฤติภายนอกประเทศ เป็นวิกฤติด้านพลังงาน วิกฤติสงคราม วิกฤติด้านธนาคาร รวมถึงวิกฤติด้านการเงิน
ดังนั้นในการบริหารประเทศ 4 ปีต่อจากนี้ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีทีมเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และวิธีการ เราจะฟื้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งด้วยรัฐบาลเพื่อไทย วันนี้พรรคเพื่อไทย จะก้าวเดินต่อไปด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล เราจะเปลี่ยนประเทศไทยจากอนาล็อกให้ก้าวสู่สังคมยุคดิจิทัล ด้วยยุทธศาสตร์ “ดิจิทัล ไลฟ์ ไทยแลนด์” ผ่านโรดแมป 3 ขั้น
ขั้นที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีในระดับกลาง และเพิ่มทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล ต่อยอดด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาระดับประเทศที่มีชื่อว่า Learn to Earn ที่เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในการเชื่อม 3 ภาคส่วนเข้าด้วยกัน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาคการศึกษา ต่อยอดด้วยการสร้างคนในยุคดิจิทัลผ่านนโยบาย 1 ตำบล 1 ไอทีแมน ในการสร้างปราชญ์ในยุคดิจิทัลให้กระจายในชุมชนให้กระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน
ขั้นที่ 2 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีระดับสูง พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในการยกระดับระบบการชำระเงินใหม่ของประเทศ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนขึ้นมา เราใส่เงิน 10,000 บาท เข้าไปให้กับประชาชน 55 ล้านคน และเป็นเครื่องยืนยันว่า หลังจากเสร็จโครงการนี้ ประเทศไทยพร้อม ประชาชนพร้อม สำหรับการชำระเงินรูปแบบใหม่ด้วยบล็อกเชน และจะกลายเป็นประเทศแรกแรกในโลก ที่มีระบบนี้ในการเปิดรับประตูสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยสนับสนุนระบบระดมทุนคู่ขนาน คือ ตลาดหลักทรัพย์ในการลงทุนสำหรับการลงทุนในเศรษฐกิจพื้นฐาน และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ดิจิตอล แอสเซท ในการระดมทุนเศรษฐกิจดิจิทัล 2 เสาหลักนี้จะเดินไปด้วยกัน และได้การสนับสนุนและได้รับการผลักดันจากพรรคเพื่อไทย เมื่อภาคเอกชนพร้อม ภาครัฐก็ต้องพร้อม จึงประกาศนโยบายรัฐบาลดิจิทัล ทำให้รัฐบาลเป็นระบบดิจิทัลอย่างเป็นรูปแบบ
ขั้นที่ 3 เราจะหาเงินเข้าประเทศด้วยดิจิทัล เปิดเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ในการเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินที่จะลงทุนเข้ามาผ่านการลงทุนจากการต่างประเทศ ในเขตธุรกิจใหม่ มีกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ มีสิทธิประโยชน์ใหม่ และเรามีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ที่จะทำตัวเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในประเทศเหมือน นอกจากนี้ยังผลักดันเรื่องสนธิสัญญาการค้าระดับประเทศ Digital economy partnership agreement ที่เป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประเทศเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล ที่จะเปิดห่วงโซ่การค้าใหม่ด้านดิจิตอลให้กับประเทศ
“นี่คือ โรดแมปทั้ง 3 ด้าน จะพาประเทศไทยสู่ประเทศดิจิทัล ผ่านยุทธศาสตร์ดิจิทัลไลฟ์ไทยแลนด์ เราจะเปลี่ยนประเทศไทย จากประเทศที่เป็นอนาล็อก เป็นประเทศที่เป็นดิจิทัล เต็มรูปแบบ เพราะนี่คือเพื่อไทย เพื่อไทยทันสมัย เพื่อไทยที่คิดใหญ่ และเป็นเพื่อไทยที่คว้าเงินในโลกยุคใหม่ให้ประชาชน” นายเผ่าภูมิ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 66)
Tags: การเมือง, กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ปานปรีย์ พหิทธานุกร, พรรคเพื่อไทย, พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ศุภวุฒิ สายเชื้อ, เลือกตั้ง