นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สบาย เทคโนโลยี (SABUY) เปิดเผยว่า ในปีนี้จะเห็นการประกาศดีลลงทุนอีก 2-3 ดีล คาดใช้เงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการขายสินทรัพย์บริษัทย่อย คือ บริษัท สบาย สปีด จำกัด (SABUY SPEED) ออกไปบางส่วน จากปัจจุบัน SABUY ถือหุ้น 82% และขายที่ดินของ บมจ.สบาย คอนเน็กซ์ เทค (SBNEXT) หรือเดิมคือ บมจ.เธียรสุรัตน์ (TSR) ซึ่งมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท
บริษัทยังคงวางงบลงทุนรวมปีนี้ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะลงทุนใน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่ม Smart Solution (สมาร์ตโซลูชัน), กลุ่ม Payments (การชำระเงิน), กลุ่ม Touchpoints (จุดพบเจอกับผู้บริโภค), กลุ่ม Commerce (กลุ่มพาณิชย์) และกลุ่ม Financial Services (บริการทางการเงิน) ซึ่งในดีลใหม่ทั้ง 2-3 ดีลจะอยู่ใน 5 กลุ่มดังกล่าว
ขณะที่บริษัท เตรียมเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือในวันที่ 1 มิ.ย.นี้เพื่อขออนุมัติเข้าซื้อหุ้น บมจ.เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (AS) ด้วยการทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) จำนวนไม่เกิน 380,855,256 หุ้น ในราคาหุ้นละไม่เกิน 18.50 บาท คิดเป็นเงินไม่เกิน 7,045,822,236 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิของ AS ครั้งที่ 2 (AS-W2) จำนวนไม่เกิน 4,961,539 หน่วย ราคาหน่วยละไม่เกิน 15 บาท เป็นเงิน 74,423,085 บาท จากปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนราว 24% โดยหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จาก AS เข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต
ส่วนการลงทุนใน บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริษัทมีมติลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลง จึงมีการขายหุ้นออกไปบางส่วน จนปัจจุบันคงเหลือถือหุ้นน้อยกว่า 5 ล้านหุ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติแบงก์สหรัฐ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงสนใจลงทุนใน SINGER เพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (Synergy) แต่ขอรอดูงบการเงินของ SINGER ในไตรมาส 1 และ 2 นี้ก่อน ซึ่งยังมีเวลาในการพิจารณาอยู่พอสมควร และบริษัทก็ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการเข้าลงทุนดังกล่าวไปก่อนแล้ว ซึ่งมีระยะเวลาเข้าลงทุนได้จนถึงปลายปีนี้
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/66 เชื่อว่าจะเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่ต่ำ และธุรกิจตู้เติมเงิน, เกมส์, payment ยังเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลทำให้คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 2 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 5.3 พันล้านบาท แม้กำลังซื้อผู้บริโภคน้อยลง การส่งออกน้อยลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่บริษัทฯ ได้มีการกระจายการลงทุนไปในหลากหลายธุรกิจ ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงดังกล่าวได้
บริษัทคาดจะมีสัดส่วนรายได้มาจาก
1. ธุรกิจ Machine/Kiosk จำนวน 2,900 ล้านบาท
2. ธุรกิจ Consumer Merchandising จำนวน 3,200 ล้านบาท
3. ธุรกิจ Drop-Off Shop & Service จำนวน 3,300 ล้านบาท
4. ธุรกิจ Solution & Platform จำนวน 3,500 ล้านบาท
5. ธุรกิจ Financial Service จำนวน 1,000 ล้านบาท
และ 6. ธุรกิจ Innotainment & Infrastructure จำนวน 6,000 ล้านบาท
ล่าสุด บริษัท สบาย แคปปิตอล พลัส จำกัด ในเครือ SABUY นำสินเชื่อโซลาร์ รูฟท็อป หนุนใช้พลังงานทดแทนลดปัญหาโลกร้อน ลดค่าใช้จ่ายระยะยาว พร้อมมอบโอกาสให้กับคนตัวเล็กด้วยสินเชื่อเพื่อเข้าถึงธุรกิจ ระยะยาว ด้วยธุรกิจในครอบครัวสบาย หรือ SABUY Family เข้าร่วมงาน Money Expo 2023 ระหว่างวันที่ 11-14 พ.ค.66
ผลิตภัณฑ์สินเชื่อจาก SABUY Capital Plus ได้แก่ สินเชื่อบุคคลสุขสบาย ดอกเบี้ยต่ำ หรือสินเชื่อโครงการติดตั้ง Solar Rooftop ที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าประชาชนเผชิญปัญหาค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่แพงสวนทางกับรายได้ SABUY Group โดยบริษัท SABUY Capital Plus จึงได้ไอเดียออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อโครงการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป เพื่อชีวิตที่สบาย ให้คล่องตัวกว่าเดิม รูฟท็อปในอัตราดอกเบี้ย 0% 12 เดือน วงเงินกู้สูงสุด ไม่เกิน 350,000 บาท ผ่อนนานสูงสุด 84 เดือน
ส่วนสินเชื่อเพื่อเข้าถึงธุรกิจ ระยะยาว มอบโอกาสให้กับคนตัวเล็กด้วยสินเชื่อต่างๆ อาทิ
-สินเชื่อบุคคลสุขสบาย ดอกเบี้ย ต่ำสุด 12.99 % วงเงินกู้ สูงสุด 5 เท่าของรายได้ ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน
-สินเชื่อ Coffee Business ดอกเบี้ย 0.69 % ต่อเดือน วงเงินกู้ สูงสุด ไม่เกิน 200,000 บาท ผ่อนนานสูงสุด 24 เดือน
-สินเชื่อเพื่อร้านสะดวกซัก ดอกเบี้ย 0.69 % ต่อเดือน วงเงินกู้ สูงสุด ไม่เกิน 2,000,000 บาท ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 66)
Tags: SABUY, ชูเกียรติ รุจนพรพจี, สบาย เทคโนโลยี, หุ้นไทย