นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนเม.ย. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 51.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.5 ในเดือนมี.ค. 66
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 49.6
– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.7
– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.3
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.0
– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.4
– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 49.2
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พ.ค. 66 ทำให้บรรยากาศในการหาเสียงคึกคักทั่วประเทศ
2. รัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 66 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาคการท่องเที่ยว ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ที่เริ่ม 7 มี.ค.-30 เม.ย. 66 และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการช่วยเหลือด้านการลดค่าครองชีพ
3. บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยคึกคักต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศ ประกอบกับช่วงเทศกาลหยุดยาววันสงกรานต์
4. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ทั้งแก๊สโซฮอล และดีเซลปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา
5. เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 34.503 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค.66 เป็น 34.285 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย.66
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ใหม่เหลือ 3.6% จาก 3.8% เป็นผลจากภาคส่งออกในปีนี้ ที่คาดว่าจะติดลบ 0.5%
2. แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง ซึ่งรวมถึงบรรยากาศความตึงเครียดของสงคราม 2 ประเทศรัสเซียและยูเครน
3. การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 66 หดตัว 4.2% มูลค่าอยู่ที่ 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 7.1% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,935.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. สถานการณ์ค่าพลังงานที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง
5. ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และในบางจังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
7. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประชาชนยังต้องระมัดระวังการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น
8. ความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงเรื่องวิกฤตภาคธนาคารที่ยังคงมีอยู่ จากการที่สหรัฐเผชิญความเสี่ยงในภาคการเงินและวิกฤตเพดานหนี้ มีแนวโน้มกดดันเศรษฐกิจระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
– มาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชันของหน่วยงานภาครัฐ
– ดูแลต้นทุนสินค้า และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า) ให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม
– รักษาฐานค่าแรงตามความเหมาะสมของอัตราเงินเฟ้อ และรายจ่ายตามสถานการณ์จริงในปัจจุบัน
– สร้างความเท่าเทียมทำให้เศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่มีความคึกคัก โดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อหาโอกาส
– การแก้ไขปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย. 66 ซึ่งอยู่ที่ 51.9 จุด ถือว่าเป็นระดับที่ดีสุดในรอบ 64 เดือน นับตั้งแต่ได้เริ่มทำการสำรวจมาในรอบ 6 ปี และยังนับเป็นครั้งแรก ที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในทุกภาค อยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจในภูมิภาคได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทำให้มีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และเริ่มมีความต้องการอุปโภค-บริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้ภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ ยังมีความกังวลกับปัจจัยที่ยังเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่น ซึ่งได้แก่ 1.ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวในบางภูมิภาคที่อาจยังไม่โดดเด่นนัก โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลต่อภาวะต้นทุนค่าไฟที่แพงขึ้น รวมทั้งนโยบายหาเสียงของบางพรรคการเมืองในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจในอนาคต
“ภาคเอกชนกังวลต่อนโยบายหาเสียงเรื่องปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งผู้ประกอบการต้องการให้ค่าแรง ปรับขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อ และความสามารถในการที่จะจ่ายได้จริงของนายจ้าง ปรับตามกลไกข้อตกลงร่วมกันของไตรภาคี ไม่ใช่มากำหนดล่วงหน้าไว้จากนโยบายหาเสียงแบบนี้” นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของทุกภูมิภาคจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะการฟื้นตัวแบบ K shape และมีฐานความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นการฟื้นตัวที่โดดเด่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 66)
Tags: TCC-CI, ดัชนีความเชื่อมั่น, ท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, วชิร คูณทวีเทพ, เลือกตั้ง, เศรษฐกิจไทย