บมจ.ซันเวนดิ้งเทคโนโลยี (SVT) จับจังหวะการบริโภคในประเทศฟื้นเดินเกมรุกขยายตู้ Vending Machine รับแนวโน้มตลาดเติบโตได้อีกมาก วางเป้าปีนี้กระจายตู้ Vending Machine อีกกว่า 1,000 ตู้ เจาะพื้นที่โรงงงาน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ตามเทรนด์ New Normal หวังผลักดันยอดขายเติบโตกว่า 10% พร้อมออกลุยตลาดต่างประเทศหลังโควิดคลี่คลาย
นายพิศณุ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ SVT เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทมองเห็นแนวโน้มธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ในประเทศยังมีโอกาสเติบโตค่อนข้างมาก เนื่องจากพบว่าจำนวนตู้ Vending Machine ในประเทศไทยมีไม่ถึง 50,000 ตู้ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรพบว่าตู้ 1 ตู้รองรับจำนวนคนถึง 1,400 คน ถือว่าประเทศไทยยังมีตู้ Vending Machine ไม่มากเหมือนกับในญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน SVT กินส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในประเทศไปแล้วราว 35% (15,700 ตู้) ทำให้มีช่องว่างในการเติบโตของธุรกิจนี้ค่อนข้างสูง โดยปีนี้บริษัทมีเป้าการขยายตู้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้
ประกอบกับ จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ผู้คนมีเทรนด์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (New Norm) หลีกเลี่ยงการสัมผัส และความนิยมในการชำระเงินผ่านช่องทาง Digital และการใช้งาน E-Payment เร่งตัวขึ้นมากเกินกว่าที่เคยคาดไว้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนธุรกิจ Vending Machine ไปในตัว
บริษัทจะให้ความสำคัญกับการครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศก่อน ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการติดต่อจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอให้บริษัทไปลงทุนธุรกิจ Vending Machine ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ยังมีอุปสรรคจากสถานการณ์โควิดทั้งจากการเดินทางและผลกระทบต่อการบริโภค เมื่อทุกอย่างคลี่คลายลงบริษัทจึงมั่นใจว่าจังหวะต่อจากนี้จะเป็นโอกาสในการเจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาด CLMV
นายพิศณุ กล่าวว่า พื้นที่หรือจุดวางตู้ (Location) คือกลยุทธ์สำคัญในธุรกิจนี้ บริษัทเน้นทำเลวางตู้ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของตู้ที่บริษัทติดตั้งทั้งหมด รองลงมากระจายอยู่ตามศูนย์กลางการขนส่งต่าง ๆ (Logistic Hub) ซึ่งมีการขนส่งผู้โดยสารค่อนค้างมาก รวมถึงแหล่งชุมชนอย่าง ห้างสรรพสินค้า ที่เริ่มมียอดขายกลับมาหลังจากผลกระทบจากโควิดเริ่มซาลง
นายพิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือการจำหน่ายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) มากว่า 20 ปี แต่ก็มีธุรกิจเสริมที่มาพร้อมกับโอกาสจากตู้ Vending Machine ได้แก่ การโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาที่เกี่ยวกับสินค้าในตู้ หรือสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในละแวกนั้น เช่น การ Wrap ตู้ Vending และด้วยความพร้อมที่บริษัทฯ มีโรงงาน Refurbish (คืนสภาพตู้) และความสามารถในการติดตั้งระบบที่ใช้ในตู้ ทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายตู้ Vending Machine ด้วยอีกช่องทางหนึ่ง
ปัจจุบัน SVT ติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติกว่า 15,700 ตู้ กระจายตัว 30 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยมีจุดแข็งอยู่ที่การขยายพื้นที่การให้บริการและขยายพื้นที่จุดตั้งตู้ ทำให้บริษัทสามารถเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% โดยในปีนี้ก็คาดว่ารายได้ของบริษัทเติบโตต่อเนื่องได้มากกว่า 10% เช่นกัน
ตู้ Vending Machine ที่บริษัทรับมาจากญี่ปุ่นและจีน โดยตู้จากญี่ปุ่นเป็นตู้มือสองมีอายุการใช้งานค่อนข้างยาว มีความคงทน เรานำมาฟื้นฟูสภาพ (Refurbished) ที่โรงงานของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี และมีการรับตู้ใหม่ (มือหนึ่ง) จากจีนมาด้วยเช่นกัน โดยข้อดีของตู้ใหม่คือการประหยัดพลังงาน รวมไปถึงตู้ที่มีกระจกด้านหน้า (Glass Fronted) สามารถมองเห็นสินค้าที่ค้าที่อยู่ข้างใน ตู้ลักษณะนี้จะมีราคาถูก ใช้งานง่าย ดูแลรักษาได้ง่าย และขายสินค้าได้หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 66)
Tags: SVT, ซันเวนดิ้งเทคโนโลยี, พิศณุ โชควัฒนา