นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพสามิต ได้เปิดศูนย์ปราบปราบสินค้าผิดกฎหมายออนไลน์ นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตามยุทธศาสตร์ EASE Excise ในการยกระดับเดินหน้าปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายที่มีการลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้เสียภาษี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ค้าขายอย่างสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงยังเป็นการดูแลผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยและได้สินค้าที่มีคุณภาพ
ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65 – 31 มี.ค.66) กรมสรรพสามิต สามารถจับกุมคดีสินค้ายาสูบจากทั่วประเทศได้มากถึง 4,809 คดี จำนวน 638,519 ซอง เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 130,000,000 บาท ส่งผลให้มีปริมาณของกลางยาสูบเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากคดีสิ้นสุดแล้ว จะต้องมีการดำเนินการทำลายของกลางให้ไม่สามารถนำกลับมาบริโภคได้อีก
อย่างไรก็ดี ในการทำลายยาสูบของกลางนั้น ต้องคำนึงวิธีการที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เพราะไม่เพียงแค่ควันบุหรี่ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ แต่ส่วนประกอบอื่น ๆ ของบุหรี่ยังส่งผลกระทบ ด้วยเช่นกัน
จากที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิต EASE Excise ที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) กรมสรรพสามิต จึงได้มีแนวคิดที่จะนำของกลางยาสูบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมองในมิติต่าง ๆ ดังนี้
1) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ในการลดมลภาวะ จากเดิมในการจัดการของกลางยาสูบด้วยวิธีการเผาทำลาย ซึ่งในบุหรี่ 1 มวน ประกอบด้วย ใบยาสูบ กระดาษที่ใช้มวน และสารเคมีหลายร้อยชนิด เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และปัญหาการเผาทำลาย นำมาซึ่งการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอีกด้วย
จึงได้มีการนำนวัตกรรม การจัดการของกลางยาสูบมาใช้ ด้วยการสร้าง “เครื่องทำลายของกลางยาสูบต้นทุนต่ำ” โดยนำเลื่อยวงเดือนมาติดตั้งบนโต๊ะ เพื่อตัดทำลายพร้อมคัดแยกก้นกรองและยาสูบออกจากกัน มีการติดตั้งเครื่องดูด และถังกักเก็บฝุ่นละออง เพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถตัดทำลายของกลางยาสูบทั้งแบบซองแข็งและซองอ่อนได้ทั้ง carton อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดอุปสรรคในการจัดการของกลางยาสูบ (การทำลายให้สิ้นสภาพ) และเพื่อปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการจัดการของกลางยาสูบให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านแนวคิด Zero Waste ในการนำทุกส่วนประกอบของยาสูบไปใช้ประโยชน์ ดังนี้
- ยาสูบ นำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยากำจัดศัตรูพืช (ชีวภาพ)
- ก้นกรอง สามารถใช้ทดแทนมะพร้าวสำหรับปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สร้างพื้นที่สีเขียว
- บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษ นำเข้าสู่กระบวนการ Recycle
- ซองและพลาสติก สู่กระบวนการคัดแยกขยะเพื่อนำไปกำจัดให้ถูกวิธีต่อไป
2) มิติด้านสังคม (Social) การส่งมอบของกลางยาสูบให้กับโรงเรียนทหารการสัตว์ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ศัตรูพืช ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยแก่บุคลากรในโรงเรียนและประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการเรียนรู้ และสามารถจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในราคาถูกแก่ชุมชนอีกด้วย
3) มิติด้านธรรมาภิบาล (Governance) การบริหารจัดการสินค้ายาสูบของกลางซึ่งมีจำนวนมากให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเป็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน รวมถึงยังเป็นการสร้างความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักธรรมาภิบาล
นายเอกนิติ กล่าวว่า การนำบุหรี่ของกลางที่คดีสิ้นสุดแล้ว มาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในการไล่ศัตรูพืชนี้ เป็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทดแทนการใช้สารเคมี (B: Bio) ถือเป็นการนำของเหลือใช้มาหมุนเวียนสร้างคุณค่า (Circular) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรสู่การเติบโตสีเขียว (Green) ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการทำเกษตรให้กับเกษตรกรเป็นการต่อยอดนวัตกรรมและองค์ความรู้การทำลายยาสูบของกลาง ให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกรมฯ EASE Excise ที่กรมฯ มุ่งเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 66)
Tags: กรมสรรพสามิต, บุหรี่, ยาสูบ, สินค้าออนไลน์