สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมว่า ไทยเสี่ยงเผชิญกับภาวะธุรกิจย้ายฐานออกจากประเทศ หากนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งรวมถึงการขึ้นค่าแรงเป็นจำนวนมากและการแจกเงินให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ไทยเพิ่งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5% ในปี 2565 ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มเติมจะจำกัดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะกับเวียดนาม ซึ่งกำลังแข่งขันกันในด้านการผลิต โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยานยนต์ ปิโตรเคมี และชิป
กลุ่มพรรคการเมืองไทยใช้นโยบายประชานิยมเพื่อขอคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน 70%, การรับประกันเงินเดือนขั้นต้นสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี, การพักชำระหนี้สำหรับเกษตร และการลดค่าไฟฟ้าลงทันทีก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.
ไทยเคยเป็นหนึ่งในแหล่งการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันกลับพ่ายแพ้ให้แก่เวียดนามและอินโดนีเซียในการดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มบริษัทที่กำลังย้ายฐานออกจากจีน ซึ่งสาเหตุหลักก็เป็นเพราะค่าจ้างแพงและเผชิญกับภาวะแรงงานสูงอายุ
กลุ่มธุรกิจต่างวิตกกังวลว่า นโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบแง่ลบในระยะยาว โดยเฉพาะในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ระบาด โดยเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ หากนโยบายประชานิยมถูกนำมาใช้จริง
“เรากังวลจริง ๆ เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะกับเวียดนาม ซึ่งมีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่า” นายวิวรรธน์กล่าว พร้อมระบุเสริมว่า “ขณะเดียวกันเราก็วิตกว่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการย้ายโรงงานผลิตออกจากประเทศไทย”
ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ของไทยใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายก็เสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อที่ได้รับแรงผลักดันจากอุปสงค์ โดยเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอีกครั้ง หลังจากเพิ่งชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีเมื่อปีที่แล้ว อาจกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนทางการเงินและทำให้หนี้ภาคครัวเรือนพุ่งทะยานขึ้นจากเดิมที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชียอยู่แล้ว
TDRI ระบุในการประมาณการครั้งล่าสุดว่า นโยบายประชานิยมสำคัญ 3 อันดับแรกของพรรคการเมืองแถวหน้า 3 พรรคของไทยจะคิดเป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท (3 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งจะทำให้ต้องใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มมากขึ้นจนนำไปสู่ภาวะขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น โดยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอาจเสี่ยงกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย
“เราเห็นความพยายามที่จะใช้นโยบายการใช้จ่าย และเรารู้สึกกังวลว่ารัฐบาลจะหาเงินก้อนโตเช่นนี้มาได้อย่างไร” นางจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหารของดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินเชิงอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของไทยระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า “การใช้นโยบายเหล่านี้อย่างเต็มรูปแบบจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อต้นทุนธุรกิจและงบประมาณของประเทศ”
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท.ระบุว่า ในขณะที่ประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงจะกระทบต่อภาคการส่งออกไทยเพิ่มเติม ซึ่งการส่งออกไทยมีมูลค่า 2.87 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 โดยกลุ่มผู้ผลิตจะถูกกดดันให้ส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ไปให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งก็อาจจะส่งผลกดดันกลุ่มธุรกิจและภาคครัวเรือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 66)
Tags: บลูมเบิร์ก, วิวรรธน์ เหมมณฑารพ, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย