สำนักงานกำกับดูแลทางการเงินของรัฐบาลกลางเยอรมนี (BaFin) เปิดเผยเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ว่า ระบบธนาคารของประเทศกำลังเผชิญกับการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ในชีวิตจริง ท่ามกลางความผันผวนในขณะนี้ และคาดการณ์ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จะประสบกับภาวะอ่อนแอครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน
ภาคการธนาคารได้ถูกจับตามองมาตั้งแต่เดือนมี.ค. เนื่องจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และการเข้าช่วยเหลือธนาคารที่ระส่ำระสายอีกหลายแห่ง แรงกดดันที่ภาคการธนาคารต้องเผชิญยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากธนาคารหลายแห่งผลักดันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงิน
นายมาร์ค แบรนสัน ประธาน Bafin กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า เยอรมนีได้รับผลกระทบแบบเดียวกันจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
นายแบรนสันกล่าวอีกว่า ระบบธนาคารของเยอรมนี “ได้รับผลกระทบในแง่ลบอยู่บ้าง” แต่เน้นย้ำว่า ระบบยังไม่ตกอยู่ในอันตราย และระบบการเงินสามารถรับมือกับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงได้เป็นอย่างดี
“เราไม่มีวิกฤตธนาคารระดับโลกในขณะนี้ แต่เราประสบกับสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวล และส่วนต่าง ๆ ของระบบพบเจอกับการทดสอบภาวะวิกฤตในชีวิตจริง”
นายแบรนสัน กล่าว
โดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นควรเป็นเรื่องที่ดีต่องบดุลการเงินของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ หากธนาคารแบกรับความเสี่ยงมากเกินไป และไม่สามารถจัดการกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วมากเกินไป
ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่าธนาคารต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศยูโรโซนเริ่มเข้มงวดกับเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ผู้กู้ก็ยื่นกู้เงินในจำนวนที่น้อยลง โดยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 66)
Tags: ธนาคาร, วิกฤตธนาคาร, อสังหาริมทรัพย์, เยอรมนี