สภาสุขอนามัยโลก (Global Hygiene Council หรือ GHC) ซึ่งเป็นสภาอิสระของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยและการป้องกันการติดเชื้อ เผยการรักษาสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิดระบาดนั้น พบว่าความชุกของโรคอื่น ๆ ลดลง รวมถึงไข้หวัดตามฤดูกาลและไวรัสทางเดินหายใจตามฤดูกาลอื่น ๆ ขณะที่การเจ็บป่วยที่พบบ่อยในเด็กก็ลดลงอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการรักษาสุขอนามัยในครัวเรือนและในชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดอื่น ๆ นอกเหนือจากโควิด-19
แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มส่งสัญญาณที่จะสิ้นสุดลง แต่การแพร่ระบาดเงียบของการดื้อยาต้านจุลชีพยังคงเกิดขึ้นต่อไป โดยการดื้อยาต้านจุลชีพนับว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ และในปี 2562 มีผู้เสียชีวิต 4.95 ล้านคนจากการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งตอกย้ำว่าการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ใหญ่หลวงที่สุด
หากไม่ดำเนินการใด ๆ แล้ว ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนต่อปีภายในปี 2593 ด้วยเหตุนี้ รายงานของสภาสุขอนามัยโลกในชื่อ “ทำให้สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ” (Making Hygiene Matter) จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสุขอนามัยในครัวเรือนและในชุมชน เพื่อลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อและความชุกของการดื้อยาต้านจุลชีพ
ดร. เอลิซาเบธ สกอตต์ นักจุลชีววิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยซิมมอนส์ (Simmons University) ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และประธานของสภาสุขอนามัยโลก เปิดเผยว่า รายงานฉบับใหม่จากสภาสุขอนามัยโลกได้รับการเผยแพร่ในเวลาที่เหมาะสม และให้คำแนะนำในการรักษาสุขอนามัยที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และการรักษาสุขอนามัยก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายดาย เข้าถึงได้ และคุ้มค่าที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อและรักษาชีวิต
ผลสะท้อนของการรักษาสุขอนามัยมากขึ้นในช่วงโควิดระบาดนั้น มีความชัดเจนแล้วว่า ความชุกของโรคอื่น ๆ ลดลง ซึ่งรวมถึงไข้หวัดตามฤดูกาลและไวรัสทางเดินหายใจตามฤดูกาลอื่น ๆ โดยการเจ็บป่วยที่พบบ่อยในเด็กลดลงอย่างมาก ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์มีฉันทามติที่ชัดเจนว่า สาเหตุที่โรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ลดลงในช่วงที่โควิดระบาดนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนและการบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดด้วยการรักษาสุขอนามัยมากขึ้น
รายงานฉบับนี้ได้ระบุ 4 เสาหลักในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การตระหนักถึงความสำคัญของสุขอนามัยในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง การลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยการรักษาสุขอนามัย การตระหนักถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการรักษาสุขอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในการรักษาสุขอนามัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)
Tags: สภาสุขอนามัยโลก, โรคทางเดินหายใจ