นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.66 เงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยสะท้อนได้การส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในอนาคต อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมีนาคมกลับมาเกินดุลสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยเป็นผลจากทั้งดุลการค้าและการบริการ ทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 66 จะชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย อีกทั้งตลาดแรงงานในหลายแห่งยังตึงตัว สังเกตจากอัตราส่วนระหว่างจำนวนตำแหน่งว่างงานและจำนวนผู้ว่างงานอยู่ระดับสูงที่สุดในศตวรรษ อย่างไรก็ดี มีสัญญาณว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น ในส่วนของการเติบโตเศรษฐกิจประเทศไทยคาดขยายตัวที่ 3.4 % และในปี 67 จะขยายตัว 3.6 %
นอกจากนี้ เริ่มเห็นผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในภาคการเงิน โดยผู้ฝากเงินเกิดความไม่มั่นใจและทยอยถอนเงินจากธนาคารที่มีสถานะอ่อนแอจนภาครัฐต้องรีบออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยมีผลกระทบค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินดังกล่าวค่อนข้างน้อย
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย.66 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปิดที่ 1,529.12 จุด ปรับลดลง 5.0% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม SET Index ที่ปรับตัวลงทำให้มีผู้ลงทุนสนใจกองทุนหุ้นไทยมากขึ้น โดยกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวมกองทุนประหยัดภาษี) มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 3 เดือนแรกรวม 3.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลเข้าระดับพันล้านครั้งแรกในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ กองทุน SSF ในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 พันล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้ากองทุน Equity Large-Cap มากที่สุด
ในเดือน เม.ย.66 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 46,811 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.1% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 4 เดือนแรกปี 66 อยู่ที่ 62,461 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 3 หลังจากซื้อสุทธิ 4 เดือนติดต่อ โดยในเดือน เม.ย.ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,901 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12
ในเดือน เม.ย.66 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ.มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) (MGC) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. พีลาทัส มารีน (PLT)
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย.66 อยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.14% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.36%
ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือน เม.ย.66 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 402,387 สัญญา ลดลง 40.7% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของทุกตราสาร โดยเฉพาะการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 66 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 559,610 สัญญา ลดลง 1.1% จากปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)
Tags: SET, การส่งออก, ตลท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ตลาดหุ้นไทย, ศรพล ตุลยะเสถียร, หุ้นไทย