ครม. ไฟเขียวหน่วยงานรัฐปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรก ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal)

สำหรับหน่วยงานที่ยังไม่มีช่องทางการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้นำงานบริการมาพัฒนาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางดังกล่าวเป็นทางเลือกแรก ส่วนหน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้นำงานบริการมาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง

คณะรัฐมนตรี ยังมอบให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณากรอบเวลาดำเนินการและติดตามเป็นระยะ เพื่อให้งานบริการของรัฐอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว

1. แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย

1.1 กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน

– ขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นคำแนะนำการใช้เครื่องมือตามระดับความพร้อมของหน่วยงาน เช่น ไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ ไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ๆ อื่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่อให้หน่วยงานทราบถึงภาพรวมว่าควรใช้เครื่องมือใดในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการติดต่อ หรือขออนุมัติอนุญาตต่างๆ

เช่น การจัดทำแบบคำขอและยื่นคำขอ โดยหน่วยงานที่มีความพร้อมระดับเริ่มต้น สามารถใช้ฟอร์มสาเร็จรูป เช่น Google Forms ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงกว่าควรใช้ แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) ในแอปพลิเคชันของหน่วยงาน/ขั้นตอนการจัดส่งใบอนุญาต ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีความพร้อมระดับเริ่มต้น สามารถจัดส่งผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงกว่า ควรจัดส่งผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงาน

– รายละเอียดการดำเนินการโดยสังเขปสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลที่แจ้งให้หน่วยงานทราบถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การจัดหา ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านการบริหารจัดการ (องค์ความรู้ เจ้าหน้าที่ เป็นต้น) การนำไปใช้ให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนข้อแนะนำ/ ข้อพึงระวังของการใช้เครื่องมือ

เช่น การจัดหาที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์กลาง หน่วยงานสามารถสร้างที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอง หรือเลือกใช้บริการของ สพร. ได้ และให้แจ้งที่อยู่เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ สพร. ในส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชันต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และต้องได้มาตรฐานสากล

1.2 วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการกำหนดแนวทางและมาตรฐานในการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการประชาชน

– สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นที่มีข้อจำกัดด้านบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ สามารถจัดทำบริการอย่างง่ายโดยอาศัยช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับเริ่มต้นได้อย่างครบถ้วน

– หน่วยงานระดับมาตรฐาน กำหนดมาตรฐานและคุณสมบัติขั้นต่ำ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการผ่านระบบ e-Service เว็บแอปพลิเคชัน แอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ หรือบริการภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น บริการในแอปพลิเคชันทางรัฐ สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณระดับมาตรฐาน

ทั้งนี้ วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 2 ฉบับ ยังแบ่งรายละเอียดออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

– การสร้างช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานระดับเริ่มต้นควรสร้างที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่สารบรรณควบคุมดูแลบัญชี และตรวจสอบจดหมายที่ได้รับ ส่วนหน่วยงานระดับมาตรฐานควรใช้ระบบ e-Service

– การรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานระดับเริ่มต้น ให้เจ้าหน้าที่สารบรรณตรวจสอบจดหมายที่ได้รับผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และจัดทำทะเบียนหนังสือรับ ด้วยโปรแกรม Microsoft Excel ส่วนหน่วยงานระดับมาตรฐาน ให้มีการลงทะเบียนเรื่องที่ได้รับ จากระบบ e-Service เข้าสู่ฐานข้อมูล

– การดำเนินการภายในหน่วยงานหลังจากได้รับเรื่องทางอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวทางการดำเนินการสำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐานคล้ายคลึงกัน เช่น การตรวจสอบ ความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารหลักฐาน (ประชาชนส่งไฟล์สำเนาเอกสารเพียงชุดเดียว และส่งในสกุลไฟล์ใดก็ได้ที่ใช้กันทั่วไป เช่น PDF JPG) การพิสูจน์และยืนยันตัวตน (อาจใช้ Digital ID หรือวิดีโอคอล) การรับเงินค่าคำขอ ค่าธรรมเนียม (ควรชำระเงิน เข้าบัญชีด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Mobile Banking)

– การออกใบอนุญาต การแจ้งผลการพิจารณา หรือการออกหลักฐานอื่นใดให้ประชาชน ที่ยื่นคำขอหรือติดต่อมาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวทางการดำเนินการสำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น และระดับมาตรฐานคล้ายคลึงกัน เช่น การจัดทำใบอนุญาตในรูปแบบ PDF และหากเป็นไปได้ควรจัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับรองเอกสารที่จัดส่งให้ประชาชน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

– การจัดทำฐานข้อมูลใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย เช่น การรวบรวมข้อมูลใบอนุญาตแล้วเปิดเผยในเว็บไซต์ของหน่วยงาน (สำหรับหน่วยงานทั้งสองกลุ่ม) ในระบบ e-Service (สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน)

– อื่นๆ เช่น ช่องทางในการสอบถามข้อมูล คำแนะนาเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) การให้หน่วยงานระดับมาตรฐานหาวิธีการฯ ระดับเริ่มต้นมาใช้ได้หากระบบ e-Service ยังมีคุณสมบัติตามวิธีการฯ ระดับมาตรฐาน ไม่ครบถ้วน

2. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) เพื่อบูรณาการการให้บริการของหน่วยงานต่างๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ตอบโจทย์ประชาชนในมิติต่างๆ

– ระบบ Biz Portal ตอบโจทย์การประกอบอาชีพหรือธุรกิจ ของประชาชน และผู้ประกอบการ ผ่านเว็บไซต์ www.bizportal.go.th เช่น การขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียน SME เพื่อขอรับบริการภาครัฐ การขอใบรับรอง แหล่งผลิตพืชอินทรีย์ เป็นต้น

– ระบบ Citizen Portal ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชน โดยพัฒนางานบริการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เช่น การแจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป การตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาในระบบประกันสังคม เป็นต้น

3. ข้อมูลงานบริการภาครัฐ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนางานบริการที่สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ งานบริการภาครัฐตามคู่มือมาตรฐานกลางทั้งหมด จำนวน 3,830 งานบริการ สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 2,420 งานบริการ แบ่งเป็น

– งานบริการที่พัฒนาให้สามารถบริการในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว จำนวน 1,395 งานบริการ เช่น การขออนุญาตโฆษณาอาหาร (อย.) งานให้บริการข้อมูลราคาประเมิน (กรมธนารักษ์) งานการติดตามสถานะคดี (กรมบังคับคดี) การออกบัตรประจำตัวคนพิการ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) เสนอให้นำมาเชื่อมโยงกับระบบ Biz Portal หรือ Citizen Portal เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการกับประชาชน

– งานบริการที่ยังไม่มีช่องทางให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,025 งานบริการ เช่น การขอเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประโยชน์อย่างอื่น (กรณียกเว้นการประมูลและมีอัตราค่าเช่าคงที่แล้ว) (กรมธนารักษ์) การจดทะเบียนผู้ส่งออกผัก และผลไม้ไปต่างประเทศ (กรมวิชาการเกษตร) การขอเทียบโอนผลการเรียนของนักเรียนโรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอให้นำมาพัฒนาบนระบบ Biz Portal และ Citizen Portal เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดภาระและค่าใช้จ่ายของหน่วยงาน ในการพัฒนาระบบ

นายอนุชา กล่าวว่า แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการทำงานและการให้บริการของภาครัฐ เช่น การอนุญาต การให้บริการ หรือการให้สวัสดิการแก่ประชาชน สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ ลดภาระและต้นทุนของประชาชนในการติดต่อกับภาครัฐ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top