ในทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการใช้เงินที่ผลิตและบริหารจัดการโดยองค์กร กลุ่มบุคคล หรือระบบที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐกันอย่างแพร่หลาย มาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือเป็นเครื่องมือในการสะสมความมั่งคั่ง โดยเฉพาะเงินที่สร้างโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะนำสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Stablecoin มาใช้แทนเงินตราอย่างแพร่หลาย โดยมีบริษัทชื่อดังในประเทศไทยหลายเจ้าประกาศรับ Stablecoin หรือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่าง ๆ แทนเงินตราหรือเงินบาท
ทำให้ สำนักงาน ก.ล.ต ต้องออกมาประกาศห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการชำระราคาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมาเน้นย้ำว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าประเภทใดก็ตามไม่ใช่เงินตรา และไม่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ จึงน่าพิจารณาและวิเคราะห์ถึงอนาคตของ “เงินตรา” ว่าในอนาคตเงินตราหรือเงินสกุลบาทควรจะเป็นเงินสกุลเดียวในประเทศไทย หรือควรให้เงินดิจิทัลรูปแบบอื่น ๆ มาใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เมื่อพิจารณาเงินตรา (เงินบาท) จะเห็นได้ว่าประชาชนมีความมั่นใจ และสมัครใจใช้เงินบาทเนื่องจากรัฐเข้ามามีบทบาทในเงินดังกล่าวในฐานะ “เงินของรัฐ” ที่ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วจะช่วยให้ประชาชนลดต้นทุนของการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะการมีหน่วยเงินกลางทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปกับการคำนวณมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อเปรียบเทียบกับสินค้าหรือบริการที่ตนต้องการจะแลกเปลี่ยน อีกทั้งรัฐจะเข้ามาแทรกแซงในบางธุรกรรมระหว่างเอกชนมากกว่าแค่การบังคับสัญญาทางแพ่งให้เป็นไปตามข้อตกลงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่สัญญา ทั้งนี้ ในกฎหมายไทยยังไม่มีบทบัญญัติเพื่อปกป้องผู้เสียหายจากการใช้บริการผู้ให้บริการชำระราคาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ ช่วยเหลือเจ้าหนี้ที่รับชำระหนี้ด้วยตราสารที่สั่งจ่ายด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน
ในส่วนของเงินดิจิทัลหรือเงินเอกชนที่สร้างโดยเอกชนนั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่เอกชนกลุ่มหนึ่งร่วมกันใช้ด้วยความสมัครใจให้เป็นเงิน (Private Arrangement) อาจมีเอกชนกลุ่มอื่นไม่เห็นพ้องที่จะใช้เงินดิจิทัลดังกล่าวเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Non-Inclusivity) รัฐไม่จำเป็นต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตหรือจัดการอุปสงค์หรืออุปทานของเงินนั้น (No State Sponsorship) และหากมีข้อขัดแย้งที่เกิดจากการใช้เงินดิจิทัล เอกชนตกลงที่จะหาหนทางระงับข้อพิพาทเอง รัฐจะเข้าแทรกแซงในส่วนของความสัมพันธ์ที่เป็นนิติกรรมสัญญาตามกฎหมายเท่านั้น (Private Dispute Settlement)
ดังนั้นการที่เงินดิจิทัลเอกชนจะสามารถเข้ามาแทนที่เงินของรัฐได้อย่างสมบูรณ์ เงินดังกล่าวจะต้องสามารถทำหน้าที่แทนเงินของรัฐหรือทำได้ดีกว่า เช่น เงินดิจิทัลเอกชนต้องสามารถช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมของบุคคลได้ดีเท่าหรือมากกว่าเงินของรัฐ เงินดิจิทัลเอกชนต้องมีกระบวนการระงับข้อพิพาทที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมมากกว่าระบบกระบวนการยุติธรรม และ เงินดิจิทัลเอกชนที่จะเข้ามาแทนที่เงินของรัฐ ต้องสามารถดึงดูดหรือโน้มน้าวให้ประชาชนในสังคมหันมาใช้เงินสกุลดังกล่าวกันอย่างพร้อมเพรียงจนกลายเป็นเงินสกุลหลักของสาธารณชน แต่อย่างไรก็ดีการจะหาเงินดิจิทัลเอกชนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างไรก็ตามผู้สนับสนุนเงินดิจิทัล มักยกข้อเสียของเงินของรัฐเพื่อสนับสนุนการใช้เงินดิจิทัล เช่น การมองว่าเงินของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง มีการบริหารจัดการที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนและกลุ่มชนชั้นสูง ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะคนยากจน และเงินของรัฐไร้ประสิทธิภาพ มีต้นทุนสูงและมีความเสี่ยงที่จะโดนโจรกรรมหรือปลอมแปลง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับระบบเงินดิจิทัลเอกชน ผู้สนับสนุนมักชูประโยชน์ เช่น เงินดิจิทัลเอกชนไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง เงินดิจิทัลเอกชนมีความโปร่งใสและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน และ เงินดิจิทัลเอกชนมีต้นทุนในการผลิตและดูแลต่ำกว่าเงินของรัฐ
ท้ายที่สุดหากหน่วยงานรัฐและสาธารณชนสามารถคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมก็ควรพิจารณาถึงนโยบายการอนุญาตให้มีเงินดิจิทัลเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Stablecoin ให้เข้ามามีบทบาทในการบริการประชาชน เพื่อเสริมในส่วนที่เงินของรัฐอาจจะทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
เรื่องเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน เกี่ยวข้องกับสังคมในหลายมิติ หน่วยงานรัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนพิจารณาข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับเงินดิจิทัลหรือเงินเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากที่สุด
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
และนายชารีฟ วัฒนะ ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มบริษัทสำนักงานกฎหมายอเบอร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 66)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, SCOOP, คริปโทเคอร์เรนซี, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สินทรัพย์ดิจิทัล, เงินดิจิทัล, เงินรัฐ, เงินเอกชน