อีสท์สปริง ออกกองทุนพันธบัตรรัฐบาลและวอร์แรนท์อิง S&P 500 ขาย IPO 8-12 พ.ค.

นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเปิดจองกองทุนเปิดอีสท์สปริง US Double Structured Complex Return 1YA (ES-USDCR1YA) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย ระยะเวลาลงทุนประมาณ 1 ปี ซึ่งเป็นกองทุนที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเงินลงทุน พร้อมเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีไม่ว่าสถานการณ์หุ้นสหรัฐจะขึ้นหรือลง จากการลงทุนในสัญญาวอร์แรนท์ที่อ้างอิงกับดัชนี S&P500 โดยเปิดขายหน่วยลงทุนครั้งเดียวระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคม 2566 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท

กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Double Structured Complex Return 1YA ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นกองทุนรวมผสมประเภทที่มีการจ่ายผลตอบแทนซับซ้อน และมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 79% โดยมีกลยุทธ์การลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้และ/หรือเงินฝากและ/หรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากทั้งในประเทศและ/หรือต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) 98.00 – 99.00% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เงินลงทุนเติบโตเป็น 100% ของเงินลงทุนทั้งหมดเมื่อครบอายุโครงการ โดยกองทุนนี้จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือเพิ่มเติมในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ 2 อันดับแรก เช่น ญี่ปุ่น (อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม) ซึ่งการลงทุนต่างประเทศในส่วนนี้จะมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เต็มจำนวน

ส่วนที่ 2 กองทุนจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประเภทสัญญาวอร์แรนท์ (Warrant) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี S&P500 ซึ่งจะไม่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการลงทุนในสัญญาดังกล่าว โดยจะลงทุนประมาณ 1.3-1.4%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม) เพื่อเปิดโอกาสให้กองทุนสามารถแสวงหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการจ่ายผลตอบแทนด้วยอัตราการมีส่วนร่วม (Participation Rate) 50% ของการเปลี่ยนแปลงของดัชนี S&P500

หากดัชนีดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง 15% เมื่อเทียบกับ ณ วันจดทะเบียนกองทุนซึ่งตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา กองทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนการลงทุนสูงสุดประมาณ 7.5% แต่หากดัชนีอ้างอิงระหว่างอายุสัญญาปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับ ณ วันจดทะเบียนกองทุน กองทุนจะมีโอกาสได้รับเงินผลตอบแทนชดเชยอยู่ที่ 0.25% ซึ่งผลตอบแทนคาดการณ์เหล่านี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง USD/THB ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเปรียบเทียบระหว่างวันจดทะเบียนกองทุนและวันครบกำหนดอายุของตราสาร และไม่มีกรณีที่ตราสารหนี้และ/หรือเงินฝากใดมีการผิดนัดชำระหนี้

“จุดเด่นของกองทุนนี้คือความเสี่ยงต่อเงินต้นต่ำมากเพราะลงทุนเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรืออาจจะลงทุนเพิ่มในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ 2 อันดับแรก (International Rating) อย่างเช่น ญี่ปุ่น รวมถึงโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีจากวอร์แรนท์ หากดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นหรือลงไม่เกิน 15% ซึ่งเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากโดยทั่วไป และต้องการลงทุนในระยะประมาณ 1 ปี” นางสาวดารบุษป์ กล่าวพร้อมให้มุมมองการลงทุนว่า

จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติขึ้นดอกเบี้ยฯ 0.25% ตามที่ตลาดคาดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึงส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปีตาม Dot Plots ล่าสุดที่ทาง Fed ได้ประเมินอัตราดอกเบี้ยสิ้นปีไว้ที่ 5.25% โดยหากวิเคราะห์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวเพิ่มขึ้น โดย GDP ไตรมาส 1/66 ที่ประกาศออกมาถึงแม้จะขยายตัวได้ 1.6% (YoY) หากดูการเติบโตเทียบไตรมาสต่อไตรมาสหรือ (QoQ) จะพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวเพียง 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และหากไปดูข้อมูลจาก Bloomberg Consensus จะพบว่าการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาสที่ 2/66 และ -0.6% , -0.3% ในไตรมาสที่3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของบลจ.อีสท์สปริงที่เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้บาง ๆ หรือ (Shallow) Recession ในช่วง 3-6 เดือนต่อจากนี้ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ Fed ต้องกลับมาลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือ ต้นไตรมาส 4 เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวรุนแรง

“การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯต่อจากนี้ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าเราประเมินว่ายังคงน่าสนใจ ถึงแม้สหรัฐฯอาจเผชิญเศรษฐกิจถดถอยได้แบบบาง ๆ แต่ Fed ก็อาจจะกลับมาลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นตัวที่ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน ขณะที่ความเปราะบางด้านตลาดการเงินยังคงมีอยู่ ซึ่งผลต่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยิ่งเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้ Fed อาจมีการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ซึ่งอาจเป็น Good News on Bad News ในตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม หากนับตั้งแต่ 1 ตุลาคมปีที่ผ่านมา ถึง 1 พฤษภาคมปีนี้ ดัชนี S&P500 ทำผลตอบแทนไปแล้วกว่า 16% ซึ่งเราประเมินว่าดัชนี S&P500 อาจไม่ได้ขึ้นแรงแบบช่วงที่ผ่านมา แต่จะเป็นภาพของ Sideway Up ต่อจากนี้” นางดารบุษป์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top