กระทรวงพาณิชย์ แจ้งความคืบหน้า! ติมอร์-เลสเต เปิดตลาดลดเลิกภาษีให้กับสินค้าส่งออกหลายรายการของไทยแล้ว แลกกับการสนับสนุนเข้าเป็นสมาชิก WTO ล่าสุด ติมอร์-เลสเต สามารถสรุปผลการเปิดตลาดกับฟิลิปปินส์ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรปแล้ว และอยู่ระหว่างเจรจากับชาติอื่นๆ ตั้งเป้าจบกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO โดยสมบูรณ์ต้นปี 67
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยและติมอร์-เลสเต สามารถสรุปผลการเจรจาเปิดตลาดของติมอร์-เลสเต ระดับทวิภาคี ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ของติมอร์-เลสเตสำเร็จแล้ว เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งฝ่ายไทย นำโดยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์) และฝ่ายติมอร์-เลสเต นำโดยรัฐมนตรีประสานงานการเศรษฐกิจและหัวหน้าคณะเจรจาการภาคยานุวัติเข้าเป็นสมาชิก WTO (นาย Joaquim Amaral) โดยติมอร์-เลสเต ยอมที่จะเปิดตลาดลดเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าส่งออกหลายรายการของไทยตามที่ไทยร้องขอแล้ว
สำหรับผลการเจรจาสุดท้ายในภาพรวมที่ติมอร์-เลสเต จะเปิดตลาดให้สมาชิก WTO จะเป็นอย่างไร ต้องรอสรุปผลหลังจากที่ติมอร์-เลสเต สามารถปิดการหารือการเปิดตลาดกับสมาชิก WTO ที่แสดงความจำนงขอเจรจาเปิดตลาดในระดับทวิภาคี โดยล่าสุด ติมอร์-เลสเต สามารถสรุปผลหารือทวิภาคีกับฟิลิปปินส์ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรปได้แล้ว และอยู่ระหว่างหารือทวิภาคีกับอินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อติมอร์-เลสเต จบการเจรจาเปิดตลาดระดับสองฝ่ายกับสมาชิก WTO ที่สนใจแล้ว จะต้องแจ้งข้อผูกพันการเปิดตลาดในภาพรวมกับ WTO โดยการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรที่จะเก็บกับสินค้าส่งออกของสมาชิก WTO จะต้องเป็นอัตราเดียวกัน ทั้งนี้ ติมอร์-เลสเต ตั้งเป้าจะจบการเจรจาทวิภาคีกับสมาชิก WTO ให้เสร็จ เพื่อสามารถจบกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO โดยสมบูรณ์ ภายในการประชุมรัฐมนตรี WTO (Ministerial Conference: MC) ครั้งที่ 13 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยจะครบ 10 ปี ที่ติมอร์-เลสเต แสดงความสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อปี 2558
นางอรมน เพิ่มเติมว่า นอกจากการเปิดตลาดสินค้าที่ติมอร์-เลสเต จะต้องผูกพันให้สมาชิก WTO แล้ว ติมอร์-เลสเต ยังต้องผูกพันที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การค้าต่างๆ ที่กำหนดไว้ในความตกลง WTO อาทิ การลดเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตร กฎระเบียบด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช กฎระเบียบทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการค้า และมาตรการเยียวยาทางการค้า
“ติมอร์-เลสเต มีแผนจะเดินหน้าพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) ภายในปี 2573 และให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยเฉพาะกาแฟ ประมง และอุตสาหกรรมแปรรูป ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการค้าการลงทุนไปยังติมอร์-เลสเตได้อีกด้วย” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ ติมอร์-เลสเต เป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของไทยในอาเซียน และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของติมอร์–เลสเต ในอาเซียน โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับติมอร์-เลสเต มีมูลค่า 14.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 32.11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสินค้าเกษตรกรรม ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะกระดาษและเศษกระดาษ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 66)
Tags: WTO, ติมอร์-เลสเต, องค์การการค้าโลก, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม