เลือกตั้ง’66: โค้งสุดท้าย ประชันนโยบายเศรษฐกิจ 8 พรรคการเมือง

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชิญตัวแทน 8 พรรคการเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566

 

– พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ชี้การเมืองสงบช่วยเศรษฐกิจไหลลื่น

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ภท. กล่าวว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เสนอให้เพิ่มเงินสวัสดิการหรือปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต้องดูว่าจะส่งผลกระทบเรื่องวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ผู้ประกอบการมีความพร้อมหรือไม่ หากจะปรับขึ้นจริง ควรเป็นแบบขั้นบันไดที่ผ่านการประเมินร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี ช่วงที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจ เพราะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19

“ถ้าไปถามคนที่เสียภาษี คงได้คำตอบอีกอย่าง ทุกคนจะเอาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ตอนนี้ไม่ต้องคิดเรื่องการขึ้นภาษีเลย ต้องพยายามประคับประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปให้ได้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เอกชนเข้มแข็ง สามารถไปแข่งขันได้ ถ้าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ก็จะมีปัญหารื่องวินัยการเงินการคลัง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

การแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นต้องมองในภาพรวม ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงจุดใดจุดหนึ่ง เช่น การปรับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนที่ช่วยสร้างบรรยากาศและแรงดึงดูดนักลงทุน, การนำเสนอจุดแข็งของประเทศ, การปลดล็อกเรื่องค่าแรงขั้นต่ำได้ด้วยการอัพสกิลและรีสกิล

“ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทุกพรรครู้ปัญหาและมีนโยบายดีๆ แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้านั้นต้องอาศัยบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มีความขัดแย้งด้วย” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลมีแนวโน้มเติบโตไปได้ดี แต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสเติบโตด้วยตัวเอง มักถูกทุนขนาดใหญ่เข้ามาซื้อกิจการ ดังนั้นรัฐบาลควรมีหน่วยงานที่จะเข้ามาร่วมทุนกับสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีที่มีอนาคตเพื่อให้เกิดธุรกิจรายใหญ่

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนคงเข้าใจดีว่าจะเลือกอย่างไรที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้การเมืองสร้างปัญหา มีการใช้งบประมาณที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง และไม่สร้างภาระหนี้สินให้กับประเทศ

 

– พรรคเพื่อไทย (พท.) เพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจในประเทศ ลดพึ่งพาต่างประเทศ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ทีมเศรษฐกิจ พท.กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการส่งออกมากถึง 58% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากเกินไป ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะพึ่งพาการส่งออกราว 29% พอเกิดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทำให้การส่งออกชะตัวลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุน มีการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ

แนวทางที่จะทำให้มีการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินนโยบายหาเสียงให้เกิดความคุ้มค่าและป้องกันทุจริต คือ การเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้และสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด ซึ่งในต่างประเทศจะมีกฎหมายดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ เรื่องการศึกษา เพราะปัจจุบันมีผู้ที่หลุดไปจากระบบการศึกษาแล้วราว 2 ล้านคน หากปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น, การต่อยอดโครงการ 30 บาทให้มีระบบเทเลเมดิซีน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จะต้องจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เพื่อปลดหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 และเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไป รวมถึงการออกมาตรการจูงใจการลงทุนจากต่างประเทศ

 

– พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พัฒนาเติบโตยั่งยืน ไม่เน้นประชานิยม

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองหัวหน้าพรรค ชทพ.กล่าวว่า นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองต่างๆ น่าจะต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่นโยบายของ ชทพ.จะมุ่งไปที่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานรากที่มีความเปราะบาง เนื่องจากเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในเวลารวดเร็ว โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ, โครงการพี่ดูแลน้อง, ปรับลดเครดิตเทอมให้สั้นลง, จัดตั้งกองทุนสินเชื่อแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน

“การแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องช่วยสร้างอาชีพเสริม ซึ่งใช้เงินแค่หมื่นล้านบาท ไม่ต้องใช้ถึง 4-5 แสนล้านบาท” นายชาติชาย กล่าว

การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเติบโต หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เช่น การสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง แทนที่จะไปใช้ของต่างชาติ

พรรคมีนโยบายที่จะดูแลเศรษฐกิจฐานราก และสิ่งแวดล้อม ไม่เน้นลดแลกแจกแถม เปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัย พัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการขยายตัวของจีดีพีเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ของประชาชน

 

– พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ใช้เทคโนโลยีทำงานมีโรดแมปชัดเจน

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า พรรคมีนโยบายเพิ่มรายได้ด้วยการเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท และจะมีการปรับขึ้นโดยอัตโนมัติตามอัตราการเติบโตของจีดีพีและเงินเฟ้อ ผ่านกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี ขณะเดียวกันจะลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟลดลง 70 สตางค์/หน่วย และสร้างความมั่นคงในเรื่องสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันตั้งแต่เกิดจนตาย โดยงบประมาณที่ใช้จะมาจากการปรับปรุงระบบงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ การจัดเก็บภาษีใหม่ เช่น ภาษีมั่งคั่ง ภาษีที่ดินรวมแปลง และรับบริจาคจากผู้ที่มีรายได้สูง เพราะเงินงบประมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายหาเสียง

แนวทางการดูแลการใช้จ่ายงบประมาณให้โปร่งใสนั้น จะมีการเปิดเผยข้อมูล ใช้ AI ในการติดตามและตรวจสอบทุจริต และมาตรการคนโกงวงแตกที่จะลดหย่อนโทษให้กับผู้ที่เปิดเผยข้อมูลการทุจริต

ถีงแม้พรรคจะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์การทำงานในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และหากได้รับโอกาสให้เข้าไปเป็นรัฐบาลก็มีโรดแมปในการทำงานที่ชัดเจน โดยมีนโยบายการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

 

– พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แนะกระตุ้นทันที หาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่

นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรค พปชร.กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากต่างประเทศ แนวทางการแก้ปัญหาจึงต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการหารายได้เพิ่ม, การช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ และการวางแผนพัฒนาที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง

“ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว โดยไม่ต้องรอผลจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่อาจเกิดความผันผวน และต้องกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งวางรากฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นายอุตตม กล่าว

การแก้ปัญหาเร่งด่วน คือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรม การแก้ปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งเติมเงินทุนและเสริมทักษะให้เดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกัน ต้องจัดรัฐสวัสดิการอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการลงทุน ไม่ใช่ประโยชน์หาเสียง โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้นั้นต้องมีการทบทวนความเหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และปรับโครงสร้างภาษีใหม่

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานราก, การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ทดแทนเครื่องยนต์เดิมที่เริ่มอ่อนล้า

“ก่อนอื่นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นจะขับเคลื่อนนโยบายได้ไม่เต็มที่” นายอุตตม กล่าว

 

– พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) หนุนเอสเอ็มอีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค ทสท.กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงภาวะความอ่อนแอของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่ราว 3 ล้านราย ที่มียอดขายราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งเผชิญวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อให้กลับมาเป็นกลไสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใช้เงินราว 2-3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ต้องสร้างแต้มต่อให้กับเอสเอ็มอี ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ 3 ปี เพื่อให้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มและลดทุจริต สนับสนุนให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งเสริมให้แข่งขันในตลาดโลก

พรรคมีจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีบุคลากรที่มีประสบการณ์หลากหลายอาชีพ

สำหรับการดูแลงบประมาณนั้น นอกเหนือจากการกำกับดูแลของสภาพัฒน์แล้ว จะใช้ AI ดาต้าวัน ที่สามารถติดตามและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน

 

– พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพิ่มงบ R&D หนุนแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า

นายเกียรติ สิทธีอมร ทีมเศรษฐกิจพรรค ปชป.กล่าวว่า นโยบายของพรรคตอบโจทย์ประชาชน ทั้งเรื่องลดค่าไฟ 1-1.50 บาท/หน่วย, ลดราคาน้ำมันลิตรละ 2-3 บาท, เรียนฟรีถึงปริญญาตรี 12 สาขา, อินเตอร์เน็ตฟรี, ตรวจสุขภาพฟรี, ยกระดับสินค้าเกษตร เช่น ข้าวหากส่งออกเป็นวัตถุดิบจะมีกำไร 3% แต่หากทำเป็นอาหารแปรรูปจะมีกำไรเพิ่มเป็น 40%, เพิ่มงบ R&D เป็น 3%

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การจัดตั้ง R&D Hub, การแปรรูปสอนค้าไบโอฟู้ด ไบโอเคมิคอล , การเปิดการเจรจาเอฟทีเอ, การสร้างแบรนด์ไทย, การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะทำให้เศรษบกิจขยายตัว 5% โดยใช้วงเงินงบประมาณที่มีอยู่ตามปกติ ไม่ต้องไปกู้เงินเพิ่ม แต่ใช้วิธีการเกลี่ยจากงบประมาณ ไม่ยอมทุนผูกขาด ไม่สร้างปัญหาซ้ำซ้อน

“อย่าไปเลือกตามกระแส ต้องหยั่งรู้เพื่ออนาคตประเทศ ต้องดูนโยบายที่เกิดประโยชน์ ไม่สร้างภาระ ไม่เอางบมาใช้ลดแลกแจกแถม นโยบายสอดคล้องกับความเป็นจริง และพรรคไม่เคยมีรัฐมนตรีที่ติดคุก” นายเกียรติ กล่าว

 

– พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) นโยบายโอกาสนิยมที่ไม่สร้างภาระหนี้

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค ชพก.กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งควรได้รัฐบาลที่เก่งในการหาเงินเข้าประเทศ นโยบายของพรรคเป็นโอกาสนิยม ไม่ใช่ประชานิยมที่ไปเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะ เหมือนเอาปืนใหญ่ไปยิงมด เอาชนะทุนผุกขาดด้วยทุนเผื่อแผ่ผ่านตลาดทุน

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว คือการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาใช้งานเอง ขณะที่บทบาทของภาครัฐนั้นควรเป็นแค่อำนวยความสะดวก ไม่ใช่องค์กรใหญ่ที่มีความเทอะทะ

สำหรับการดำเนินนโยบายของพรรคจะใช้งบประมาณน้อยมาก และได้ผลเร็ว เช่น การปรับโครงสร้างภาษีให้ผู้ที่มีเงินได้ไม่ถึง 4 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษีนั้น จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 6 พันล้านบาท แต่จะสร้างกำลังซื้อในระบบเป็นจำนวนมาก

“การซื้อเสียงทำลายประเทศมานานแล้ว ขอให้ประชาชนชั่งใจ คิดถึงอนาคตประเทศ” นายวรวุฒิ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top