พาณิชย์ เผย CPI เม.ย.66 โต 2.67% จากตลาดคาด 2.7% ชะลอตัวต่อเนื่อง

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน เม.ย.66 เพิ่มขึ้น 2.67% จากตลาดคาดที่ 2.7% โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง และราคาสินค้าหมวดอาหารบางตัวชะลอลง รวมทั้งฐานในเดือน เม.ย.65 อยู่ในระดับที่สูงแล้วจากช่วงก่อนหน้านั้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.66) เพิ่มขึ้น 3.58%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนเม.ย.66 เพิ่มขึ้น 1.66% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.09%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเม.ย.66 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.64 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ชะลอตัวลง ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อน (เม.ย.65)

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดมี.ค.66) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ระดับต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือนเม.ย.นี้เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.66 พบว่า มีสินค้า 58 รายการปรับตัวลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, น้ำมันพืช, เนื้อสุกร, ผักกาดขาว, ผักบุ้ง, พริกสด เป็นต้น ขณะที่สินค้า 334 รายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า, กับข้าวสำเร็จรูป, ก๊าซหุงต้ม, ข้าวสารเจ้า, กระเทียม, ไก่สด, ข้าวราดแกง เป็นต้น

ส่วนเม็ดเงินที่จะเข้ามาในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จะมีผลต่อเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.66 มากน้อยอย่างไรนั้น นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ทาง สนค.ได้นำปัจจัยเรื่องเม็ดเงินช่วงหาเสียงเลือกตั้งรวมไว้ในการคำนวณเงินเฟ้อแล้ว และหากจะมีปัจจัยอื่นจากการเลือกตั้งที่นอกเหนือจากนี้คาดว่าจะไม่มีผลต่อเงินเฟ้อมากนัก

ด้านนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนพ.ค.66 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และอาจจะอยู่ในระดับไม่เกิน 2% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำกว่าพ.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 107.68 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ สินค้าบางรายการชะลอตัวลงหรืออยู่ในระดับที่ทรงตัว รวมทั้งมีปัจจัยจากฐานที่สูง ซึ่งในเดือนพ.ค.65 อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึง 7.1%

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในระดับต่ำตามที่คาดไว้ เช่น ราคาก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตร และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาคการท่องเที่ยว ที่ส่งผลต่ออุปสงค์ และราคาสินค้าและบริการ

“คาดว่าเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ยังอยู่ในระดับต่ำ และอาจจะได้เห็นว่าต่ำสุดในรอบ 20 เดือน คาดว่าจะอยู่ในระดับ 1% กว่าๆ ไม่เกิน 2% ซึ่งเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำกว่าระดับ 2% เราเห็นล่าสุดเมื่อเดือน ก.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.68% ” นายวิชานัน ระบุ

ขณะที่ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 จะเฉลี่ยไม่เกิน 3% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 66 ไว้เท่าเดิมที่ 1-7-2.7% หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.2%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top