นักการเมืองคนหนุ่มสาว (Young blood) ร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง “สงคราม 9 พรรค…THE LAST WAR”
น.ส.รัดเกล้า สุวรรณคีรี ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ในช่วงลงพื้นที่ได้ยินเสียงบ่นถึงความน่าเบื่อและความลำบากในช่วง 8 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อยากให้ทุกคนเปิดใจรับฟัง เพราะผลงานที่ผ่านมา ทำจริง ไม่เลือกปฏิบัติ และในช่วง 3 ปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ก็สามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส นำประเทศผ่านพ้นมาได้
นโยบายเด่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การสร้างรายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท สร้างงาน 6 แสนตำแหน่ง จีดีพีขยายตัวที่ระดับ 5% ซึ่งจะเป็นการสานต่อโครงการที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว เช่น อีอีซี, การฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศซาอุดีอาระเบียจำนวน 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะต่อยอดเพิ่มเติม เช่น อาหารฮาลาล
โดยส่วนตัว หากได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะผลักดันกฎหมายดูแลเด็กและสตรีที่ถูกทำร้าย, การส่งเสริมให้บรรจุกีฬามวยไทยไว้ในหลักสูตร, ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น
นายอาชวิทย์ เจิงกลิ่นจันทน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ขอเป็นตัวแทนแสดงความคิดเห็นแทนคนสายกีฬา โดยอยากให้มองเรื่องกีฬาเป็นเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่แค่ออกกำลังกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่ 1.กีฬาพื้นฐานในวิชาพลศึกษา ต้องส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย ไม่ใช่สอบทักษะ ทำให้เด็กไม่มีความสุขกับการออกกำลังกาย 2.กีฬามวลชน มุ่งเน้นเรื่องสนามกีฬา สถานออกกำลังกายที่ทันสมัย ใช้งานได้จริง 3.กีฬาอาชีพ ซึ่งบางประเภทมีเงินเดือนหลักแสน แต่จ่ายจริงหรือไม่ และ 4.กีฬาเป็นเลิศ เน้นสวัสดิการที่ภาครัฐควรดูแล และการจัดตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทยในการดูแลอาชีพสตั้นแมน โดย ชทพ.ต้องการผลักดันให้คนเก่งในทุกๆ วงการได้ร่วมขับเคลื่อน โดยรัฐต้องสนับสนุน ไม่ใช่บงการ
นายเมธี อรุณ ผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนเข้ามาทำงานการเมืองกับ ปชป. เพราะเมื่อย้อนดูภูมิหลังแล้ว เห็นว่าทุกครั้งที่ประเทศมีวิกฤต ปชป.จะเข้ามาช่วยแก้ไข และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคก็ยังยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน นโยบายหลายเรื่องเป็นการริเริ่มของ ปชป. เช่น กองทุน กยศ., นมโรงเรียน, อสม.
น.ส.สิริลภัส กองตระการ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ตัดสินใจเข้ามาทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น เงินภาษีที่จ่ายไปไม่ได้รองรับคุณภาพชีวิตของตัวเอง ซึ่งหากได้เป็น ส.ส.จะเข้าไปผลักดันเรื่องกฎหมายต่างๆ
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่า ไม่จับมือกับ “ลุง” แน่นอน และหากได้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปไกลกว่าเดิม
นายปณิธาน ประจวบเหมาะ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า การตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองเพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์ของคนหมู่มาก โดยอาสาเข้ามารับใช้ประชาชน ซึ่งนอกจากการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ยังต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่ด้วย
สำหรับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ ทสท.นั้น มีประสบการณ์ในการทำงานมายาวนาน และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนการทำรับประหาร
น.ส.สกาวใจ พูนสวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ รัฐประหารคืออาชญากรรม คนทำรัฐประหาร คืออาชญากรที่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะทำให้ประเทศชาติล้าหลัง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้นต้องพูดจากัน แม้แต่เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ถูกจำกัด ถูกกล่าวหาว่าชังชาติ
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ควรมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จในการทำงาน เพราะประเทศไม่ใช่สนามเด็กเล่นให้เข้ามาลองผิดลองถูก
นายอิทธิเดช สุพงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ไม่ได้เกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย ต้องเก็บหอบรอมริบ หาเช้ากินค่ำ การเก็บเงินไม่ได้ง่ายนัก จึงอยากเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ผ่านมาเคยทำงานบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ลาออกมาทำงานราชการตามความตั้งใจ แต่อาชีพที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ คงไม่มีอาชีพไหนเท่านักการเมือง และต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีความคิด อุดมการณ์ เชื่อในประชาธิปไตย เคารพรัฐสภา เป็นเอกภาพ นั่นคือ พรรคภูมิใจไทย
ประเทศไทยมีความขัดแย้งมานาน ไม่มีสมาธิจะโฟกัสในการบริหารประเทศ แต่วันนี้ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่าน เป็นรัฐของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม พรรคจะนำพาก้าวข้ามความขัดแย้ง มีตัวเลือกให้ประชาชน เน้นการตั้งหลัก ฟื้นฟู พัฒนาต่อเนื่อง ไม่ใช่นโยบายขายฝัน ไม่สร้างภาระการคลัง ไม่ทิ้งมรดกบาป
พรรคเน้นความยั่งยืน ได้แก่ การพักหนี้ 3 ปี เพราะประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน ลดภาระเรื่องพลังงาน ติดตั้งโซลาร์รูฟ สนับสนุนรถไฟฟ้า ช่วยประหยัดค่าน้ำมันรถ สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น นโยบายเกษตรร่ำรวย เสียหายมีประกัน โครงการแลนด์บริดจ์ สร้างเขตเศรษฐกิจใหม่กับประเทศ แจกเครื่องกรองน้ำ มอบงบประกันชีวิต สนับสนุนสมุนไพรไทย ยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
นโยบายเหล่านี้ จะขับเคลื่อนผ่านแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย คือ นายอุทิน ชาญวีรกูล ที่มีความครบเครื่อง ทำงานมาครบทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ แก้ปัญหาโควิดจนต่างชาติให้การยอมรับ เป็นผู้นำที่ดีอยู่ในเวทีสากล เคารพกติกาเสมอ ทำให้คนทุกรุ่นเชื่อมโยง ไม่ขัดแย้ง รับฟังความเห็นต่าง
นายระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า อยากเข้ามาทำงานการเมืองเพราะอยู่ในจุดที่ต่ำและเตี้ยเกินไปที่เสียงจะส่งมาถึงผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และเชื่อว่า พปชร.เป็นพรรคที่เหมาะสมที่สุดในการกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงและมีพลวัต
ส่วนนโยบายของ พปชร.ที่อยากผลักดันคือ ที่ดินและน้ำ การบริหารจัดการน้ำไม่ใช่แค่ป้องกันกรุงเทพฯ ไม่ให้น้ำท่วม แต่การบริหารจัดการที่ดี และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์มากกว่ากันน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั่นคือการเพิ่มศักยภาพในการทำการเกษตรให้กับประเทศไทย เมื่ออยากเป็นเสือตัวที่ 5, 6, 7
น.ส.วิเวียน จุลมนต์ ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวว่า เนื่องจากเรียนจบและทำงานเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ทำให้พบความแปลกประหลาดในสัญญาซื้อขายไฟเมื่อปี 2553 มีกลุ่มนายทุนใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์ ขณะที่กลุ่มนายทุนรายเล็กไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ทางที่จะแก้ไขได้ คือ จะต้องทำนโยบายพลังงานไฟฟ้าเสรี และต้องแก้วาทกรรม “ค่าความพร้อมที่เราไม่ได้ใช้” ที่สำคัญ ค่าไฟต้องถูกลงทันที ตั้งกองทุนโซลาร์รูฟท็อปแบบปลอดดอกเบี้ย
“พลังงานแสงอาทิตย์แปรเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ แต่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงโซลาเซลล์ ทำไมต้องใช้เงินถึงหลัก 200,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้ชาวบ้านตาดำๆ เข้าไม่ถึง จึงเป็นเหตุผลที่ ชพก.จะทำกองทุนโซลาร์รูฟท็อปแบบปลอดดอกเบี้ย”
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายรื้อโครงสร้าง อาทิ การรื้อโครงสร้างพลังงาน เก็บภาษีลาภลอยโรงกลั่น หั่นค่า Ft รื้อโครงสร้างการเงิน โดยการยกเลิกแบล็กลิสต์ รื้อโครงสร้างภาษี โดยเงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี และรื้อระบบโครงสร้างราชการ โดยจัดทำระบบ Gov-Tech ราชการ 1 คำขอ ซึ่งจะอยู่ในโทรศัพท์มือถือ มีความรวดเร็ว ปลอดคอร์รัปชั่น เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 66)
Tags: พรรคก้าวไกล, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย, เลือกตั้ง