นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566 (ไตรมาสที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 66 ดังนี้
1. สรุปรายงานผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (ไตรมาสที่ 2 ) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 66 เปรียบเทียบภาพรวมผลการเบิกจ่าย และผลการใช้จ่ายงบประมาณกับเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี วงเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 3,185,000 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 1,691,979 ล้านบาท คิดเป็น 53.12% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 1,888,135 ล้านบาท คิดเป็น 59.28% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย และการใช้จ่ายงบประมาณ 1.12% และ 3.04% ตามลำดับ
– รายจ่ายประจำ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,520,329 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 1,459,291 ล้านบาท คิดเป็น 57.90% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 1,472,082 ล้านบาท คิดเป็น 58.41% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย และการใช้จ่ายงบประมาณ 2.90% และ 2.63% ตามลำดับ
– รายจ่ายลงทุน วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 664,670 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 232,688 ล้านบาท คิดเป็น 35.01% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 416,053 ล้านบาท คิดเป็น 62.60% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณ 3.99% แต่สูงกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณ 4.45%
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบผลการเบิกจ่าย และผลการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (ไตรมาส 2) กรณีไม่รวมงบกลาง วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,594,530 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1,402,233 ล้านบาท คิดเป็น 54.05% ต่ำกว่าแผนการใช้จ่ายงบประมาณ 2.32% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 1,597,942 ล้านบาท คิดเป็น 61.59% สูงกว่าแผนการใช้จ่ายงบประมาณ 5.22%
สำหรับการรายงานผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำแนกตาม 6 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ และหนึ่งรายการ ประกอบด้วย
1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงงบประมาณจำนวน 292,593 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 113,707 ล้านบาท คิดเป็น 38.86% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 138,131 ล้านบาท คิดเป็น 47.21% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 13.14% และ 9.03% ตามลำดับ
2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ จำนวน 397,239 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 224,875 ล้านบาท คิดเป็น 56.61% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 307,019 ล้านบาท คิดเป็น 77.29% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 4.61% และ 21.05% ตามลำดับ
3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์งบประมาณจำนวน 544,455 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 293,922 ล้านบาท คิดเป็น 53.98% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 314,595 ล้านบาท คิดเป็น 57.78% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 1.98% และ 1.54% ตามลำดับ
4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณจำนวน 767,403 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 458,399 ล้านบาท คิดเป็น 59.73% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 488,282 ล้านบาท คิดเป็น 63.63% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 7.73% และ 7.39% ตามลำดับ
5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณจำนวน 122,605 ล้านบาทมีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 49,582 ล้านบาท คิดเป็น 40.44% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 77,576 ล้านบาท คิดเป็น 63.27% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย และสูงกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณ 11.56% และ 7.03% ตามลำดับ
6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณจำนวน 658,184 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 343,358 ล้านบาท คิดเป็น 52.17% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 353,980 ล้านบาท คิดเป็น 53.78% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย และต่ำกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณ 0.17% และ 2.46% ตามลำดับ
สำหรับรายการค่าดำเนินการภาครัฐงบประมาณจำนวน 402,517 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 208,133 ล้านบาท คิดเป็น 51.71% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 208,549 ล้านบาท คิดเป็น 51.81% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 0.29% และ 4.43% ตามลำดับ
2. รายการผูกพันใหม่ประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทจำนวน 32 รายการ วงเงินจำนวนทั้งสิ้น 12,259 ล้านบาท มีหน่วยรับงบประมาณรับผิดชอบจำนวน 14 หน่วยงานมี สถานภาพ ณ วันที่ 31 มี.ค. 66 ดังนี้
– ลงนามในสัญญาแล้วจำนวน 7 รายการ
– อยู่ระหว่างอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 5 รายการ
– ทราบผลการประกวดราคาแล้วจำนวน 5 รายการ
– อยู่ระหว่างการทบทวนจัดซื้อจัดจ้างจำนวน 2 รายการ
– ยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจำนวน 13 รายการ เนื่องจากเป็นรายการที่มีวงเงินสูง และมีคุณสมบัติมีคุณลักษณะเฉพาะ จึงอยู่ระหว่างขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ สาเหตุหนึ่งมาจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้การดำเนินกิจการต่างๆ ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด หลายหน่วยรับงบประมาณต้องมีการปรับวิธีการและการทำงาน รวมทั้งการปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือบริบทของแต่ละพื้นที่
นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำในที่ประชุมให้หน่วยรับงบประมาณให้ความสำคัญในการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพราะมีส่วนสำคัญต่อในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่ได้ปรับตัวดีขึ้นมาต่อเนื่องด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 66)
Tags: ครม., งบประมาณปี 66, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี