ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น และจะเข้าจดทะเยีนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมี ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
หุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยธนาคารฯ 64,705,890 หุ้น (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 282,323,232 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นไม่เกิน 28.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO
วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และวัตถุประสงค์อื่น ๆ
ธนาคารไทยเครดิตฯ เป็นธนาคารไทยที่ได้รับใบอนุญาตแห่งแรกและแห่งเดียวที่มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) แก่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักปรัชญา “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ”
ในปี 62 ธนาคารฯ ยังได้เปิดตัวการให้บริการแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “ไมโครเพย์” (Micro Pay) ที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) และการทำรายการกู้ยืมเงินได้อย่างสะดวกมากขึ้น และในปี 65 ธนาคารฯ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ภายใต้ชื่อ alpha by Thai Credit เพื่อมอบประสบการณ์ทางการเงินที่สะดวกสบายผ่านช่องทางมือถือ รวมถึงระบบเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานตามกระบวนการบริหารความเสี่ยง ทำให้ธนาคารฯ สามารถบริหารจัดการประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสาขาและพนักงานของธนาคารฯ
โครงสร้างผู้ถือหุ้น กลุ่ม วี.ซี.สมบัติ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วี เอ็น บี โฮลดิ้ง จำกัด บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) และ ผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ ถือหุ้นในสัดส่วน 63.2% หลัง IPO จะลดเหลือ 59.8%, OCA Investment Holdings I Pte. Ltd.(5) ถือหุ้น 24.2% หลัง IPO จะไม่เหลือหุ้นอยู่ (ภายใต้สมมติฐานว่าผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) นายวิญญู ไชยวรรณ 6.7% จะลดเหลือ 6.4% นางมิจิตรา กุนารา 3.8% จะลดเหลือ 3.6% และกลุ่มนายวีรเวท ไชยวรรณ 2.0% จะลดเหลือ 1.9%
ผลประกอบการปี 63-65 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท และ 11,052.3 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท และ 2,352.5 ล้านบาท ตามลำดับ อัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 20.9% 22.1% และ 20.9% ตามลำดับ
สำหรับปี 63-65 เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท และ 121,298.0 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 32.7% ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้าน
เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย (1) เงินให้สินเชื่อสำหรับสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (2) เงินให้สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (3) สินเชื่อบ้าน (4) สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล (5) สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 143,189.4 ล้านบาท หนี้สินรวม 128,807.9 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 14,381.5 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 15.2% เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม 3.9%
ทั้งนี้ ธนาคารฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารพิจารณากำหนดการจ่ายเงินปันผลโดยจะพิจารณาความสามารถในการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามกฎหมายและตามที่ธนาคารฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เปิดเผยว่า การเสนอขาย IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯของธนาคารนั้นคาดว่าเป็นช่วงปลายปี 66 โดยคาดว่าระยะเวลาในการพิจารณาไฟลิ่งราว 150-180 วัน ทำให้บริษัทคาดว่าจะสามารถเสนอขาย IPO และเข้าตลาดได้ในปลายปี
วัตถุประสงค์การเสนอขาย IPO ในครั้งนี้เพื่อการรองรับการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการเป็นเงินทุนรองรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยผลักดันให้ธนาคาร มีแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ
ขณะเดียวกันยังเป็นการรองรับการเติบโตของธนาคารที่จะก้าวขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Universal Bank) ในช่วงเดือนก.ย. 66 ที่คาดว่าจะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยกระดับจากปัจจุบันที่ธนาคารเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ทำให้เป็นส่วนหนึ่งไนการรองรับการขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะเตรียมก้าวสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ แต่ธนาคารยังคงยึดมั่นในการให้บริการและสนับสนุนกลุ่มลูกค้าหลัก ทั้งพ่อค้าแม่ค้า และธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ใช้บริการสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นประเภทสินเชื่อหลักของธนาคาร แต่การเปลี่ยนเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบจะช่วยให้ธนาคารสามารถเปิดกว้างในการให้บริการและสนับสนุนลูกค้ากลุ่มอื่นๆ รวมถึงลูกค้าเดิมของธนาคารที่เติบโตขึ้นได้
ในปี 65 ธนาคารมีสาขาทั้งหมด 500 สาขา และมีพนักงาน 3,650 คน โดยบริษัทดำเนินธุรกิจมากว่า 17 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 66)
Tags: ก.ล.ต., ธนาคารไทยเครดิต, หุ้นไอพีโอ