เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือ ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) ตั้งแต่ปี 2560 ยืนยันได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จัดหา 100% ในกิจการประเทศไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกรายย่อย ปลูกจิตสำนึกการไม่เผาหลังเก็บเกี่ยว และหาแนวทางเพื่อร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ในฐานะเป็นผู้จัดหาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักทางการเกษตรของเครือซีพี กล่าวว่า ซีพีให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ยั่งยืน และมุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และไม่เผา สนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ทั้งนี้ เครือซีพีได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ขึ้นมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และได้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับไปใช้ในการจัดซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว และเวียดนามตั้งแต่ปี 2563 อีกด้วย
“บริษัทไม่สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจส่งผลต่อการเกิดไฟป่า และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเผา และได้ริเริ่มสร้างต้นแบบระบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างจริงจัง และใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมติดตามแปลงปลูกเพื่อร่วมจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง” นายไพศาล กล่าว
บริษัทฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูก และวิเคราะห์จุดที่ยังพบการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรเลิกการเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว เพื่อสร้างหลักประกันว่าบริษัทฯ จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการเผา ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ในกิจการประเทศไทย 100% สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และหลีกเลี่ยงการเผา รวมทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) ที่เชื่อมโยงข้อมูลผลผลิตข้าวโพดตั้งแต่แปลงเพาะปลูกถึงโรงงานอาหารสัตว์ และจัดทำแอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม (For Farm) ขึ้นช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรไทยในการลงทะเบียนยืนยันตัวตนและพื้นที่ปลูก
เครือซีพียังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดรายย่อย โดยดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร ส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการเพาะปลูกที่ดีปลอดการเผา และมีรายได้ที่มั่นคงจากผลผลิตที่มากขึ้นควบคู่กับค่าใช้จ่ายที่ลดลง
ด้านนายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า บริษัทฯดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่มีนโยบายในการส่งเสริมหรือสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าและป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือส่งเสริมให้มีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก
ตั้งแต่ปี 2551 บริษัทฯ ได้ประกาศอย่างชัดเจนและดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดกับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศโดยมีข้อกำหนดยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯทันที หากพบว่ามีส่วนร่วมหรือส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวในทุกกรณี พร้อมกับดำเนินโครงการฟาร์มโปรครบวงจร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย สนับสนุนการสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ในการปลูกข้าวโพดหรือพืชอื่น ๆ ที่สำคัญคือ ห้ามมีการเผาตอซังโดยเด็ดขาด แนะนำให้ใช้วิธีไถกลบแทน พร้อมทั้งร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญศึกษาวิจัยหาแนวทางเพิ่มมูลค่าตอซัง เพื่อร่วมแก้วิกฤตปัญหาหมอกควันไฟป่า และการบุกรุกป่า อย่างเป็นระบบและยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 66)
Tags: ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ซีพี, สุเมธ ภิญโญสนิท, เครือเจริญโภคภัณฑ์, ไพศาล เครือวงศ์วานิช