ธ.ก.ส. โชว์ผลงานปีบัญชี 65 จ่ายสินเชื่อสู่ภาคชนบทกว่า 8.7 แสนลบ.

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยผลงานปีบัญชี 2565 เติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน โดยจ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปีกว่า 8.7 แสนล้านบาท

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษก ธ.ก.ส. เปิดเผยผลการดำเนินงานปีบัญชี 2565 (1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทระหว่างปี จำนวน 878,338 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,636,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 30,509 ล้านบาท หรือ 1.90% ยอดเงินฝากสะสม 1,829,549 ล้านบาท มีสินทรัพย์จำนวน 2,262,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.15% หนี้สินรวม 2,109,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08% และส่วนของเจ้าของ 153,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.15% และมีกำไรสุทธิ จำนวน 7,989 ล้านบาท

ด้านอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ 0.36% อัตราตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 5.38% ขณะที่ NPLs อยู่ที่ 7.68% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 12.63% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาและลดภาระของเกษตรกร ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการในการดูแลด้านหนี้สินและเสริมสภาพคล่องลูกค้า ได้แก่

1) โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าจำนวน 3,361,769 ราย

2) โครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน 2565 ที่ลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 467,965 ราย

3) มาตรการจ่ายดอกตัดต้น แก้หนี้ภาคครัวเรือนให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 119,723 ราย

4) มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลาย ได้ลดดอกเบี้ย แก้หนี้ภาคครัวเรือนให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 214,525 ราย

5) มาตรการทางด่วนลดหนี้ แก้หนี้ภาคครัวเรือนให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 2,692 ราย

6) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน โดยสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 82,490 สัญญา จำนวนเงิน 17,722 ล้านบาท

นายไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่

มาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โดยโอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้วกว่า 2.6 ล้านราย เป็นจำนวนเงินกว่า 7,863.72 ล้านบาท

โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.6 ล้านราย เป็นจำนวนเงินกว่า 54,020.70 ล้านบาท

โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตัดสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อบรรเทาปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ และช่วยสนับสนุนรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยโอนเงินส่วนต่างแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 114,890 ราย เป็นเงินกว่า 8,110.96 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 31,747 ราย จำนวนเงินกว่า 22,496.99 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีองค์กรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 58 แห่ง จำนวนเงินกว่า 4,258.11 ล้านบาท

โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 14.67 ล้านบาท

โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วจำนวน 6,308.38 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 1,593 ราย เป็นจำนวนเงิน 14,586 ล้านบาท

โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 2,852 ล้านบาท และสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติและ ภัยพิบัติไปแล้วกว่า 13.36 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงการคลังในการเป็นหน่วยงานรับลงทะเบียนของโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจัดเตรียมอัตรากำลัง เครื่องมืออุปกรณ์และสถานที่ ผ่านการตั้งจุดลงทะเบียนที่สาขา ธ.ก.ส. กว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงประสานหน่วยงานในพื้นที่ เช่น อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน กำหนดจุดให้บริการนอกสถานที่ เพื่อลดภาระการเดินทางและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทะเบียนในการเข้าร่วมโครงการพร้อมกับ การลงทะเบียนยืนยันตัวตน (E-KYC) โดยมีผู้มาลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้นกว่า 6,000,000 คน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top