ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่มีสาเหตุที่หลากหลาย แต่ในพื้นที่เขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ สาเหตุสำคัญกว่า 65% เกิดจากการปล่อยไอเสียรถยนต์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ฝุ่น PM2.5 ที่ปล่อยออกจากรถยนต์นั่งและรถปิกอัพในแต่ละวันในเขตกรุงเทพฯอาจสูงถึงไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านมิลลิกรัม แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่และสัญจรในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะในช่วงอากาศปิดที่ไม่มีลมหรืออากาศถ่ายเท ที่มักจะเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาวหรือปลายฤดูหนาวเป็นประจำทุกปี
ดังนั้นแนวทางหลักในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ จึงน่าจะเป็นการบริหารจัดการการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เก่าซึ่งมีถึง 1.45 ล้านคัน ในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของรถยนต์นั่งและรถปิกอัพที่จดทะเบียนทั้งหมดในกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยฝุ่น PM2.5 สูงกว่าแบบอื่นด้วย โดยอาจพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้รถยนต์โดยตรงร่วมกับส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับใช้มาตรฐานยูโร 5 ในปี 2567 ตามแผน การสนับสนุนให้ต้นทุนการตรวจสภาพเครื่องยนต์ลดต่ำลง การปรับระบบงานจราจร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวทางการบริหารจัดการหรือแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากไอเสียในพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ อาจต้องแบ่งให้ชัดเจนเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์ และส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์โดยตรง ดังนี้
1. แนวทางที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์โดยตรง
นอกจากการปรับมาใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 พร้อมกับการกำหนดให้รถยนต์ใหม่ที่ผลิตออกมาขายต้องผ่านมาตรฐานยูโร 5 ที่ภาครัฐมีแผนจะบังคับใช้ในปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้การปล่อยไอเสียมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว การสนับสนุนให้เกิดการตรวจสภาพเครื่องยนต์เป็นประจำด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เป็นแนวทางที่อาจนำมาพิจารณา
ขณะที่การกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ BEV อาจต้องใช้เวลา และเป็นมาตรการที่หวังผลได้ก็ในระยะยาวมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มรถปิกอัพดัดแปลงจากใช้น้ำมันมาเป็นไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าดัดแปลงที่อาจสูงถึงหลายแสนบาท ไม่นับประเด็นความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีที่ยังใหม่ด้วย
ดังนั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า อาจต้องรอถึงปี 2573 กว่าที่ปริมาณรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ BEV สะสมในกรุงเทพฯ จะมีสัดส่วนแตะ 10% จากที่น่าจะมีแค่ 0.6% ในปี 2566 นี้ แม้ยอดขายรถยนต์ BEV ทั่วประเทศจะมีโอกาสพุ่งไปแตะ 50,000 คันในปีนี้ก็ตาม
ส่วนการเร่งให้มีการเปลี่ยนรถยนต์ดีเซลเก่ามาเป็นรถยนต์ใหม่ โดยกระบวนการกำจัดซาก ก็น่าจะต้องรอความพร้อมของผู้ใช้รถดังกล่าว หรือการฟื้นตัวของกำลังซื้อครัวเรือนที่ชัดเจนกว่านี้
2. แนวทางอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์โดยตรง
เน้นไปที่ระบบงานจราจร อาจจะสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ซึ่งในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรป ได้มีการนำมาใช้แล้ว ทั้งการใช้ฐานข้อมูลรถยนต์ที่สัญจรในแต่ละเส้นทางมาวิเคราะห์และวางแผนการจราจรเพื่อให้เกิดการระบายรถได้รวดเร็วขึ้น หรือแม้แต่การจำกัดปริมาณรถในบางช่วงเวลาในบางเส้นทาง
รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น โดรนติดกล้องและเซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่น PM 2.5 เพื่อหาแหล่งกำเนิดฝุ่น การสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการเชื่อมโยงระบบให้ทั่วถึงจนเกิดความสะดวกและค่าบริการที่เอื้อมถึง การปรับระบบการทำงานเป็นรูปแบบที่ยืดหยุ่น โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคงต้องหารือและทำงานร่วมกัน โดยบางแนวทางสามารถทำได้เลย ขณะที่บางแนวทางอาจต้องใช้เวลา
นอกเหนือจากการใช้แนวทางต่างๆ ในการดูแลปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไอเสียรถยนต์แล้ว ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ยังเกิดจากปัญหาอื่นด้วย แม้จะเป็นสาเหตุรองลงมา ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นที่เกิดจากไซต์งานก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาในที่โล่ง เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันกับทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา โดยที่หากทำได้ดีก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ลดน้อยลงได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 66)
Tags: PM2.5, ฝุ่นละออง, มลพิษ