เช็คลิสต์ 10 ข้อ ก่อนตัดสินใจติด Solar Rooftop ลดค่าไฟบ้าน

ติด Solar Rooftop ที่บ้านดีไหมนะ? หลังจากเห็นบิลค่าไฟพุ่งในช่วงซัมเมอร์นี้ หลายคนทนไม่ไหวหาทางลดค่าไฟทุกรูปแบบ ซึ่งการติด Solar Rooftop ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าไฟแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

แต่การติด Solar Rooftop เพื่อช่วยลดค่าไฟนั้น จะเหมาะกับบ้านของเราจริงๆ หรือ? ลองไปทำเช็คลิสต์ 10 ข้อ กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กัน!

1. บ้านของเราเหมาะกับการติดตั้ง Solar Rooftop หรือไม่?

– บ้านมีคนอยู่ในช่วงเวลากลางวัน หรือเป็น Home Office/ ร้านค้า /ร้านกาแฟ แบบนี้ได้ใช้ไฟฟ้าจาก Solar เต็มที่ น่าติดตั้งใช้งาน คุ้มค่าคืนทุนไว

– มีการใช้อุปกรณ์ที่กินไฟมาก เช่น แอร์ ตู้เย็น ตู้แช่

Hint: ไฟฟ้าจาก Solar ผลิตมาใช้ทันทีดีที่สุด และนิยมติดตั้งเป็นระบบที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าได้

2. หลังคาบ้านเราเหมาะกับการติดตั้งหรือไม่?

– บ้านต้องมีโครงสร้างหลังคาแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ดี

– ไม่มีเงาต้นไม้ใหญ่ หรืออาคารรอบข้างมาบดบังแสงแดด

Hint: หลังคามีความลาดเอียงประมาณ 15 องศาและหันไปทางทิศใต้ จะได้ผลิตไฟได้ดีที่สุด

3. ติดตั้งขนาดเท่าไร จึงจะเหมาะสม?

– ติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ เหมาะกับบ้านที่ใช้แอร์เบอร์ 5 แบบ 1 ดาว 12,000 BTU 2 เครื่อง+ตู้เย็น 12 คิว+หลอดไฟ

– ติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ เหมาะกับบ้านที่ใช้แอร์เบอร์ 5 แบบ 1 ดาว 12,000 BTU 4 เครื่อง+ตู้เย็น 12 คิว 2 เครื่อง+หลอดไฟ

– ขนาดที่นิยมติดตั้ง 3, 5, 10 กิโลวัตต์ เลือกได้ตามขนาด/ จำนวนอุปกรณ์ที่ใช้

Hint: หากเลือกขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ต้องลงทุนสูง และคืนทุนช้า

4. พื้นที่หลังคาที่ใช้ติดตั้งต้องขนาดใหญ่แค่ไหน?

– ใช้พื้นที่ 4-5 ตารางเมตร/ 1 กิโลวัตต์ที่ติดตั้ง เช่น ระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 12-15 ตารางเมตร

– ลักษณะ/ ประเภทกระเบื้องหลังคาแบบต่างๆ ควรแข็งแรงเพียงพอที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ได้

Hint: หลังคาบ้านส่วนใหญ่มีพื้นที่เพียงพอต่อการติดตั้งอยู่แล้ว

5. เงินลงทุนในการติดตั้งระบบเท่าใด?

– ใช้งบประมาณ 40,000-45,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ที่ติดตั้ง มีระยะเวลาคืนทุนโดยประมาณ 6 ปี

– ควรสอบถามราคาจากผู้ให้บริการติดตั้งหลายราย เปรียบเทียบกันก่อนตัดสินใจ

– เปรียบเทียบบริการหลังการขาย เช่น การตรวจสอบอุปกรณ์ประจำปี/ การทำความสะอาดแผง/ อายุการรับประกันสินค้า

Hint: หากลงทุนติดตั้งขนาดที่ใหญ่ขึ้น จะทำให้ค่าลงทุนต่อ 1 กิโลวัตต์ถูกลง

6. ค่าไฟฟ้าที่จะประหยัดได้ และการคืนทุน คิดอย่างไร?

– ยกตัวอย่างระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟได้ประมาณวันละ 12 หน่วย (หรือ 360 หน่วยต่อเดือน) หากราคาค่าไฟการไฟฟ้าหน่วยละ 5 บาท จะประหยัดค่าไฟได้ 1,800 บาทต่อเดือน (หรือปีละ 21,600 บาท)

– คิดระยะเวลาคืนทุน จากการลงทุน ขนาด 3 กิโลวัตต์ ค่าลงทุนประมาณ 120,000-135,000 บาท ประหยัดได้ปีละ 21,600 บาท ดังนั้น มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 6 ปี

Hint: หากสามารถใช้ไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ได้เต็มกำลังที่ผลิตได้ และใช้แผงที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็จะคืนทุนได้เร็วขึ้น

7. ราคาต้นทุนไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop ตลอดอายุการใช้งาน เป็นเท่าไร?

– ยกตัวอย่างระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ หากคิดตลอดอายุระบบ Solar Rooftop 15-20 ปี จะผลิตไฟได้ 360 หน่วย/เดือน x 12 เดือน x 15 ปี = 64,800 หน่วย เมื่อคิดค่าลงทุน 120,000-135,000 บาท จะมีราคาต้นทุนประมาณ 2 บาทต่อหน่วย

Hint: ต้นทุนต่อหน่วยข้างต้น ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษารายปี เช่น การล้างแผง การตรวจสอบรายปี อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีกประมาณ 10%

8. อยากติดตั้ง ต้องเริ่มอย่างไรดี?

– เลือกผู้ให้บริการติดตั้ง ปัจจุบันมีผู้ให้บริการจำนวนมากราย ทั้งการไฟฟ้า และบริษัทที่ให้บริการติดตั้ง Solar Rooftop

– การขออนุญาตต่างๆ ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการติดตั้งจะเป็นผู้ดำเนินการให้ด้วย

– ผู้ให้บริการเข้าสำรวจพื้นที่ติดตั้ง ออกแบบ และเข้าดำเนินการติดตั้ง โดยทั่วไปใช้เวลาโดยรวมไม่เกิน 1 เดือน

Hint: ควรเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ โดยอาจพิจารณาจากประสบการณ์/ผลงานที่ผ่านมา/ คุณภาพการให้บริการ/ บริการหลังการขาย/ การรับประกันสินค้า

9. เลือกอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ได้อย่างไร?

– แผง Solar ตรวจสอบตามมาตรฐานที่ได้รับ มอก. 61215 หรือมาตรฐาน IEC 61215 เป็นอย่างน้อย

– อุปกรณ์ Inverter สามารถตรวจสอบรายชื่อรุ่นที่การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้การรับรองได้ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า

– ศึกษาเปรียบเทียบการเลือกใช้อุปกรณ์ของผู้ให้บริการติดตั้งแต่ละราย เพื่อประกอบการพิจารณา

Hint: เราสามารถศึกษาข้อกำหนดการติดตั้ง Solar Rooftop และการเชื่อมต่อระบบของแต่ละการไฟฟ้า ได้จากเว็บไซต์ของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

10. การขออนุญาตต่างๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

– ขอใบอนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคาร กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้เวลาดำเนินการ 45 วัน

– ยื่นแบบติดตั้ง และการขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th

– แจ้ง กฟน. กฟภ. ตรวจสอบระบบ และเชื่อมต่อระบบ

Hint: โดยทั่วไปผู้ให้บริการติดตั้ง จะช่วยดำเนินการเรื่องการขออนุญาตต่างๆ ให้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top