กรมวิทย์ฯ เผยไทยพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 เพิ่มอีก 6 ราย ส่วนกรณีชาวเมียนมาที่เสียชีวิต และมีผล ATK เป็นบวกตรวจสายพันธุ์พบ XBB.1.16.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.16 เน้นย้ำมาตรการป้องกันส่วนบุคคล และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ช่วยลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สำหรับประเทศไทย พบเพิ่ม XBB.1.16 จำนวน 6 ราย XBB.1.16.1 จำนวน 1 ราย ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยพบ XBB.1.16 และ XBB.1.16.1 รวมเป็น 34 ราย
โดยสัดส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16* คิดเป็น 9.8% ของสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.5* เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด คิดเป็น 28% ในขณะที่ BN.1* ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า กรณีผู้เสียชีวิตชาวเมียนมาที่มีผลการตรวจ ATK เป็นบวก ผลการตรวจสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์ T547I เพิ่มเติมจากสายพันธุ์แม่ ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์แรกที่พบในกลุ่ม XBB.1.16 อาจช่วยให้หลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์แม่ จนถึงขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16.1 จำนวน 2 ราย ในไทย
ในขณะเดียวกัน XBB.1.16 ก็ยังคงพัฒนาต่อไปตามธรรมชาติของไวรัส เพื่อให้มีความได้เปรียบในการเพิ่มจำนวนที่สูงขึ้น
ปัจจุบันพบ XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์ S494P เพิ่มเติมอีก ซึ่งพบมากขึ้นในอินเดีย และสหรัฐอเมริกา ในไม่ช้าก็อาจจะถูกกำหนดชื่อเป็นสายพันธุ์ย่อยอื่นอีก
อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก สำหรับผู้ติดเชื้อชาวเมียนมารายนี้ ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงมีความเป็นไปได้ที่การติดเชื้อไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ตาม จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าปกติ
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างใกล้ชิด โดยได้ประสานขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต สำหรับประชาชนมาตรการป้องกันส่วนบุคคล การล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย หากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ และขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
ล่าสุด องค์การอนามัยโลก ปรับชนิดสายพันธุ์ที่ติดตามใกล้ชิด ได้แก่
1) สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 2 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5 และ XBB.1.16
2) สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 6 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75, CH.1.1, BQ.1, XBB, XBB.1.9.1 และ XBF
สถานการณ์สายพันธุ์ XBB.1.5 และ XBB.1.16 ทั่วโลกอ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ในรอบสัปดาห์ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 พบจำนวนเพิ่มขึ้นจากรอบสัปดาห์ 27 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2566 ดังนี้
– XBB.1.5 รายงานจาก 96 ประเทศ คิดเป็น 50.8% เพิ่มจาก 46.2%
– XBB.1.16 รายงานจาก 31 ประเทศ คิดเป็น 4.2% เพิ่มจาก 0.5%
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์จากความได้เปรียบในการเพิ่มจำนวนและความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน XBB.1.16 อาจแพร่กระจายไปทั่วโลก และมีส่วนทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานการเพิ่มความรุนแรงของโรค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 66)
Tags: COVID-19, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์ใหม่, โอมิครอน, โอมิครอนสายพันธุ์ XBB