SINO คาดเปิดขาย IPO 292 ล้านหุ้น-เข้าเทรด SET ภายใน มิ.ย.66

นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ SINO คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.66 โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ในครั้งนี้

วัตถุประสงค์เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง จากแผนการลงทุนขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศในอาเซียน ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (M&A) และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ

SINO จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 292 ล้านหุ้น ประกอบด้วย 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 23.08% ของจำนวนหุ้นหลัง IPO และ 2. หุ้นเดิมที่เสนอขายโดยนายเถิ่งฟ้ง เหยิ่ง จำนวนไม่เกิน 52,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 5% ซึ่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุดเด่นของ SINO เป็นผู้นำในตลาดให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศครบวงจร, ทีม Management มีประสบการณ์ มีความเข้าใจ มีสายสัมพันธ์ที่ดี และมีความตั้งใจจริง เพื่อให้การบริหารงานในธุรกิจมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และคาด SCFI (Shanghai Containerize Freight Index) หรือดัชนีค่าระวางของตู้คอนเทนเนอร์น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเข้าลงทุน

ด้านนายนันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SINO กล่าวว่า แนวโน้มค่าระวางเรือในปีนี้น่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่อาจจะไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับ 1-2 ปีที่แล้ว จากความต้องการของปลายทางเริ่มกลับเข้ามา หลังจีนเปิดประเทศ และไทย ก็เริ่มได้อานิสงค์จากสินค้าบางประเภทที่มีการส่งออกมากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดหลักอย่างสหรัฐ รวมถึงจีน ก็เริ่มมีทิศทางทางที่ดี

ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้น่าจะยังมีแนวโน้มที่ดีแม้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว แต่ด้วยปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าจะหนุนผลงานได้ ส่วนราคาขึ้นอยู่กับ SCFI ขณะที่การเติบโตในระยะยาวบริษัทมีแผนขยายไปยังธุรกิจการขนส่งทางอากาศ (Air Freight) มากขึ้น ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการทำ M&A รวมถึงขยายธุรกิจไปในประเทศต่างๆ ทั้ง มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อเพิ่มเส้นทางขนส่งใหม่ๆ อีกทั้งขยายไปในตลาดยุโรปด้วย

“ในปี 66 ถือเป็นปีที่ท้าทายมากๆ แต่เราทำธุรกิจแบบเชิงรุก ไปถึงลูกค้าทั้งต้นทางและปลายทาง ซึ่งจะเห็นปริมาณของตู้คอนเทนเนอร์ที่มากขึ้น และสัดส่วนการขายของแต่ละธุรกิจที่มากขึ้น โดยธุรกิจ Sea Freight จะมีสัดส่วนจะลดลงมาอยู่ที่ 94% ที่เหลืออีก 6% จะมาจากธุรกิจอื่นๆ ทั้งการขนส่งทางอากาศ ภาคพื้นดิน คลังสินค้า”

นายนันท์มนัส กล่าว

นางสาวอรชพร วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ SINO กล่าวว่า บริษัทให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ชำนาญการให้บริการบนเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลมากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งมีตลาดหลักได้แก่ เส้นทางไทย-โซนอเมริกาเหนือ เส้นทางไทย-เอเชีย และเส้นทางไทย-ยุโรป ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักในการส่งออกและนำเข้าสินค้าหลักของการค้าโลก ทั้งในรูปแบบการขนส่งแบบเต็มตู้ (Full Container Load: FCL) และแบบไม่เต็มตู้ (Less Than Container Load: LCL) ด้วยมาตรฐานการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ โดยมี OTI License (Ocean Transport Intermediary) จาก Federal Maritime Commission (FMC) และได้วางหลักประกัน FMC Bond ทำให้สามารถทำสัญญาการบริการกับสายเดินเรือในการบริการขนส่งสินค้าไปยังประเทศแถบโซนอเมริกาเหนือได้ด้วยตนเอง ถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง โดยนำเสนอบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพให้แก่ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง เป็นต้น

บริษัทยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล ได้แก่ PPL Network, WCA Inter Global และ X2 Logistics ที่มีสมาชิก 165 ประเทศ และเป็นสมาชิกสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) และสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย (CTAT) ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าในการรับบริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และนำข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่ดี นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เช่น การนำระบบ WMS เพื่อใช้บริหารจัดการคลังสินค้า การพัฒนา ISO Tank ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุของเหลว การนำระบบ GPS เพื่อใช้ติดตามตำแหน่งรถในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงบันทึกและควบคุมความเร็วในการขับขี่ให้มีความเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในช่วงปี 62-65 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรวมทั้งสิ้น 627.98 ล้านบาท 883.57 ล้านบาท 4,683.41 ล้านบาท และ 5,906.53 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 165.62% โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล คิดเป็น 87.55%, 91.47% 97.97% และ 97.50% ขณะที่ส่วนที่เหลือมาจากการบริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศและการให้บริการสนับสนุนงานบริการโลจิสติกส์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top