กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ดังนั้น ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกัน และระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละอองในระยะนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีการสะสมของฝุ่นละอองหรือหมอกควันอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น เว้นแต่ภาคเหนือการสะสมของฝุ่นละอองหรือหมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างมาก
กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้คาดหมายค่าดัชนีความร้อน (อุณหภูมิที่คนรู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร) ของวันนี้ โดยจังหวัดที่มีดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาค ได้แก่
-
ภาคเหนือ: แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน 41.0 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
-
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: โกสุมพิสัย มหาสารคาม 43.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
-
ภาคกลาง: บางนา กทม. 50.2 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
-
ภาคตะวันออก: ชลบุรี 52.8 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
-
ภาคใต้: ภูเก็ต 49.0 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
ส่วนวันพรุ่งนี้ (26 เม.ย. 66) คาดหมายจังหวัดที่มีดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาค ได้แก่
-
ภาคเหนือ: เพชรบูรณ์ 47.2 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
-
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: โกสุมพิสัย มหาสารคาม 42.8 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
-
ภาคกลาง: บางนา กทม. 51.5 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตรายมาก
-
ภาคตะวันออก: ชลบุรี 51.8 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตรายมาก
-
ภาคใต้: ภูเก็ต 53.9 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตรายมาก
ทั้งนี้ ค่าดัชนีความร้อนที่อยู่ระดับ ‘อันตราย’ (41.0-53.9 องศาเซลเซียส) มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขาหน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 66)
Tags: กรมอุตุนิยมวิทยา, พยากรณ์อากาศ, ภาคใต้, อากาศร้อน