ดอลลารสหรัฐยังแข็งแกร่ง แม้นานาชาติเรียกร้องใช้สกุลเงินอื่น

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า กระแสเรียกร้องให้ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่บราซิลไปจนถึงกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างเรียกร้องให้มีการทำธุรกรรมทางการค้าโดยใช้สกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในวงการการค้าทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ ไม่ใช่เพราะสหรัฐเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่น้ำมันยังมีการกำหนดราคาด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย โดยน้ำมันเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับบรรดาเศรษฐกิจน้อยใหญ่ทั้งหมด นอกจากนี้แล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในสกุลดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นการไหลออกของเงินทุนและการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของสกุลเงินของตนเอง

นายเซดริก เชฮับ จากบริษัทฟิทช์ โซลูชันส์ (Fitch Solutions) กล่าวว่า “ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ อาจสามารถลดแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกได้ ด้วยการกระจายการถือครองเงินทุนสำรองในพอร์ตการลงทุนด้วยสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น”

ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เพื่อให้เป็นที่ทราบแน่ชัด ดอลลาร์สหรัฐยังคงมีอำนาจเหนือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก แม้ว่าสัดส่วนในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางต่าง ๆ จะลดลงจากระดับกว่า 70% ในปี 2542

ข้อมูลจากผลสำรวจสัดส่วนทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ (Currency Composition of Foreign Exchange Reserves) หรือ COFER ของ IMF ระบุว่า ดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนคิดเป็น 58.36% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ขณะที่สกุลเงินยูโรที่ตามมาเป็นอันดับ 2 โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 20.5% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก ส่วนสกุลเงินหยวนมีสัดส่วนเพียง 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top