ธปท. เลื่อนออกเกณฑ์ Virtual bank เป็น Q3/66 เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาต Q4

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้ง Virtual Bank ว่า ขณะนี้ ธปท.มีความจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ออกไปเป็นช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ เนื่องจากขณะนี้ยังมีประเด็นคำถามต่างๆ รวมทั้งความเห็นที่หลากหลายเข้ามายัง ธปท. ซึ่งจะต้องรวบรวมและชี้แจงให้เกิดความชัดเจน โดย ธปท.จะจัดทำคำชี้แจงในรูปแบบของ handbook

ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.จะสามารถออกหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เลื่อนไปจากแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะออกหลักเกณฑ์ได้ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งหลังจากนั้น จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตได้ในช่วงไตรมาส 4 ต่อไป

ผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันว่าจำนวนเป้าหมายที่เหมาะสมของ Virtual Bank ที่จะมีให้มีการจัดตั้งขึ้นนี้ ยังคงอยู่ที่ 3 ราย เนื่องจากเป็นจำนวนที่จะทำให้ได้เห็นความหลากหลายได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังมี impact ในแง่ของการแข่งขัน เพราะหากจำนวนน้อยกว่านี้อาจจะมีปัญหาในด้านเสถียรภาพได้

นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินว่า การที่เงินบาทมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวนนั้น เป็นผลจากปัจจัยความไม่แน่นอนของโลกมากกว่า 80% นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนกว่าค่าเงินในภูมิภาค คือ ค่าเงินบาทค่อนข้างเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในประเทศของจีนค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมทั้งปัจจัยเรื่องทองคำ ที่คนไทยมีความนิยมซื้อขายทองคำ ซึ่งส่งผลต่อทิศทางของค่าเงินบาทได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้านั้น มองว่า สถานการณ์โลกยังมีความผันผวน เนื่องจากความไม่แน่นอนจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่ง ธปท.ได้พยายามเน้นส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) มากขึ้นในการทำการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากปัจจุบันยังมีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นไม่มากนัก โดยต้องการให้เพิ่มการใช้ในอีก 4 สกุลเงิน คือ เงินริงกิต มาเลเซีย, เงินรูเปียะห์ อินโดนีเซีย, เงินเยน ญี่ปุ่น และเงินหยวน ของจีน ซึ่งในส่วนของเงินหยวนนั้น นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. จะเดินทางไปหารือกับทางการของจีนในเดือนหน้า เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นระหว่างกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top