นายโช ชู ซีอีโอของติ๊กต๊อก (TikTok) กล่าวเมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) ว่า ติ๊กต๊อกมีพนักงานในไอร์แลนด์จำนวนหลายหมื่นคนที่ทำหน้าที่กลั่นกรองคอนเทนต์ เพื่อค้นหาและลบคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม
นายโชกล่าวในงาน TED2023 Possibility ที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาว่า ติ๊กต๊อกมีหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนที่ชัดเจน และทีมผู้บริหารจะไม่ตัดสินใจอย่างเร่งด่วนเมื่อต้องรับมือกับผู้ไม่ประสงค์ดีบนอินเทอร์เน็ตที่โพสต์คอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบนแอป
“จากกรณีดังกล่าว เราได้สร้างทีมที่มีพนักงานหลายหมื่นคนพร้อมด้วยเครื่องมือสำหรับใช้ในการค้นหาและระบุถึงคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม และดำเนินการในเชิงรุกเพื่อลบคอนเทนต์นั้น ๆ ออกจากแพลตฟอร์ม”
ทั้งนี้ ติ๊กต๊อกซึ่งเป็นของบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) นั้นเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐที่ต้องการแบนติ๊กต๊อก เนื่องจากกังวลว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
ความเห็นดังกล่าวของนายโชมีขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากที่เขาถูกซักฟอกอย่างหนักหน่วงโดยสภาคองเกรสของสหรัฐซึ่งวิจารณ์ติ๊กต๊อกว่าล้มเหลวในการป้องกันการแพร่กระจายของคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์ม และติ๊กต๊อกมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชน
“ในฐานะบริษัท เป้าหมายของเราไม่ใช้การพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มจำนวนเวลาการใช้งานบนแพลตฟอร์มให้มากที่สุด” พร้อมเสริมว่า เมื่อผู้ใช้ดูติ๊กต๊อกบนสมาร์ตโฟนนานเกินไป ติ๊กต๊อกจะส่งวิดีโอเชิงรุกเพื่อบอกให้ผู้ใช้ออกจากแพลตฟอร์ม
สำหรับเรื่องคอนเทนต์ที่เป็นอันตรายนั้นไม่ได้มีเฉพาะบนติ๊กต๊อกเพียงแห่งเดียว โดยซีอีโอของคู่แข่งในสหรัฐอย่าง เมตา (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) รวมทั้งยูทูบ (Youtube) ของกูเกิล (Goolgle) ต่างก็เคยพบเจอกับการไต่สวนที่คล้ายคลึงกันจากสภานิติบัญญัติมาแล้ว
นายโชกล่าวอีกว่า ติ๊กต๊อกให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด “เราขอกระตุ้นอย่างจริงจังให้ผู้ปกครองพูดคุยกับบุตรหลานที่เป็นเยาวชนเกี่ยวกับการใช้เวลาบนหน้าจอโทรศัพท์อย่างเหมาะสม ผมคิดว่ามันมีเวลาที่พอเหมาะพอควรในการใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์ และในฐานะธุรกิจ เราเชื่อว่าความสมดุลนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 66)
Tags: TikTok, คอนเทนต์, ติ๊กต๊อก, เทคโนโลยี, โช ชู, ไอร์แลนด์