นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยนโยบายด้านพลังงานของพรรคฯ “ชูรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน ลดรายจ่ายคนไทย” โดยระบุว่า พรรคมีนโยบายที่จะลดภาระประชาชนจากพลังงาน โดยเฉพาะปัญหาค่าไฟฟ้า หากพรรคได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และควบคุมกระทรวงพลังงาน จะยกเลิกค่า Ft เพราะค่า Ft เป็นการประเมินค่าไฟล่วงหน้า 4 เดือน แต่ให้ประชาชนจ่ายวันนี้ ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำ มีใกล้เคียงแค่ 2-3 แห่ง และเห็นว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่า ไม่ใช่เปิดช่องให้คณะกรรมการเพียงชุดเดียวประเมินอนาคต แล้วให้ประชาชนจ่ายค่าไฟในอัตราที่แพงขึ้น ถ้าเรายกเลิกได้ ค่าไฟจะลดได้ทันที 1 บาท
นายเกียรติ กล่าวว่า ถ้ายกเลิก Ft แล้วจัดโครงสร้างราคาก๊าซที่เข้าโรงไฟฟ้าให้เหมาะสมและเป็นธรรม จะสามารถลดค่าไฟได้ 1-1.50 บาท/หน่วยเป็นไปได้ ส่วนราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นและค่าการตลาด ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่พรรคนำเสนอนโยบายไป จะเห็นชัดเจนว่า ราคาน้ำมันจะลดลงอย่างต่ำ 3-5 บาท ตรงส่วนนี้เป็นเป้าหมายหลัก
อย่างไรก็ตาม บางกรณีต้องมีการรื้อกฏหมาย เพราะมีกฏหมายรองรับในการทำงานของคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากรัฐยังเป็นเจ้าของโรงกลั่น อย่างต่ำ 1 โรง แนวทางแก้ปัญหาสามารถทำได้ง่าย แต่วันนี้กลับขายให้เอกชนทั้งหมด ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น แต่ยังสามารถทำได้ เพราะมีกฏหมายรองรับหลายฉบับ
“ตอนนี้บริษัทพลังงานได้รับการยกเว้นจากกฏหมายแข่งขัน เพราะไปเขียนให้ยกเว้น ทั้งๆ ที่เขาแข่งกับเอกชน ถ้าจำเป็น ก็ออกเป็นพระราชกำหนดได้ ไม่ต้องยกเว้นแล้ว แล้วเอากฏหมายแข่งขันจับทีเดียว ก็ต้องรื้อโครงสร้างแล้ว อันนี้ก็ทำได้”
นายเกียรติ กล่าว
นโยบายด้านน้ำมัน
1. กำกับค่าการกลั่น เกณฑ์มาตรฐาน 1 บาทต่อลิตร
2. กำกับค่าการตลาด เกณฑ์มาตรฐาน 1.5 บาทต่อลิตร
3. ทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม
4. ทบทวนเงินเข้ากองทุน
5. ทบทวนการคำนวณต้นทุนน้ำมันที่อ้างอิงราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน
นโยบายก๊าซธรรมชาติ
1. เฉลี่ยต้นทุนระหว่าง “นำเข้า” กับ “แหล่งในประเทศ” ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม
2. ทบทวนค่าผ่านท่อที่เหมาะสมและเป็นธรรม
3. ปฏิรูปสูตรคำนวณและวิธีการกำกับดูแลใหม่
4. ปฏิรูปสูตรคำนวนและวิธีการกำกับดูแลใหม่
5. ทบทวนสัญญาระยะยาวที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรม
นโยบายไฟฟ้า
1. ปรับราคาก๊าซป้อนโรงงานไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม
2. กำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระก่างรัฐและเอกชนให้เหมาะสม
3. กำหนดระดับกำลังการผลิตสำรองที่เหมาะสม
4. กำหนดสัดส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งราคาและรูปแบบสัญญา (PPA)
5. ทบทวนความจำเป็นการมีค่า FT
นโยบายก๊าซหุงต้ม
1. ตรวจสอบปริมาณการผลิตและใช้ในประเทศจริง
2. ทบทวนสูตรคำนวณราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม
3. แก้ปัญหาการลักลอบไปประเทศเพื่อนบ้าน
4. ทบทวนสัญญาระยะยาวสำหรับกลุ่มปิโตรเคมี
ส่วนนโยบายปั้มก๊าซ LNG/LPG จะมีการทบทวนค่าการตลาดให้เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรมช.พาณิชย์ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน กล่าวว่า นโยบายด้านพลังงานของพรรค จะยืนอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงด้านพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้แนวคิด Go Green Go Clean โดยจะผลักดันให้พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ในปี 2030 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน และเอกชน ร่วมผลิตไฟฟ้า โซลล่าร์เซลล์ และโซลล่าร์รูปท๊อป ส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานลม และผลักดันตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต
โครงการพลังงานทดแทน
1. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 1 ตำบล 1 โรงไฟฟ้า โครงการ 1 หมู่บ้าน/ชุมชน 1 โรงแก๊สชีวภาพ 1 ปุ๋ยชีวภาพ
2. โครงการ 1 จังหวัด 1 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่
3. โครงการ Green City รถโดยสาร/เรือโดยสารไฟฟ้า ในเมืองหลวงและเมืองหลัก
4. ยุทธศาสตร์ระยะยาวอุตสาหกรรม EV
5. โครงการปลูกป่าเศรษฐกิจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 66)
Tags: ปชป., พรรคประชาธิปัตย์, พลังงาน, เกียรติ สิทธีอมร, เลือกตั้ง