นายกฯ กำชับดูแลปัญหา PM2.5 เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ ติดตามอย่างใกล้ชิด และรายงานให้รับทราบทุก 3 วัน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งจากแรงงานภาพถ่ายดาวเทียม จะเห็นว่าจุดความร้อนในประเทศไทยสามารถควบคุมให้ลดลงได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนของประเทศเพื่อนบ้านยังต้องเฝ้าระวังอยู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้นำเมียนมา และผู้นำ สปป.ลาว ผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์แล้ว โดยต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป และอาจจะไม่ใช่เฉพาะเพื่อนบ้านในอาเซียนเท่านั้น เพราะยังมีฝุ่นควัน ที่มาจากแถบประเทศอินเดียด้วย ดังนั้นอาจจะต้องนำเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไปหารือในเวทีต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือจากประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการที่ส่วนราชการกำหนดเพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงหมอกและควันด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปีนี้อาจมีผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศที่มีภัยแล้งเข้ามา โดยที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝนที่ตก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมถึงวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งในพื้นที่ เพื่อเสนอเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ รวมถึงต้องมีแผนเผชิญเหตุ ดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที

อีกทั้ง ยังสั่งการให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค รวมสินรักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดแนวทางการระบายและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในแหล่งต่างๆ ให้เพียงพอในปีนี้ ตลอดจนทบทวนและจะทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ สำรวจพื้นที่หมู่บ้านชุมชนที่เคยเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนปฏิบัติการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงาน และดำเนินการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะกรณีพืชที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจ รวมถึงประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการพื้นที่การเกษตร เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย เพื่อกักเก็บน้ำเพิ่มเติมในแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือต่างๆ เพื่อดำเนินการ ทั้งในส่วนพลเรือน ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top