นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งเข้ามาแล้ว 32 เรื่อง เป็นการร้องเรียนหาเสียงหลอกลวง ใส่ร้าย 15 เรื่อง เรื่องร้องเรียนซื้อเสียง 8 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ 9 เรื่อง ทั้งนี้ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา กกต.จะพิจารณาในทันทีไม่ได้ เพราะต้องนำเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบสืบสวนไต่สวน โดยจะดูว่าคำร้องนั้น เป็นคำร้องตามระเบียบฯหรือไม่ หากเป็นคำร้องตามระเบียบฯ ก็จะดูเนื้อหาคำร้องว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีเพียงพอ จึงจะรับคำร้อง แล้วเข้าสู่กระบวนการสืบสวนไต่สวน และส่งให้จังหวัด ก่อนส่งกลับมาขอความเห็นจากส่วนกลาง และส่งให้คณะอนุวินิจฉัยก่อนเข้าสู่ที่ประชุม กกต.
“ที่ต้องใช้เวลา เพราะกระบวนการวินิจฉัยคำร้องเป็นเรื่องกระทบสิทธิกับทุกฝ่าย ต้องให้ความยุติธรรม การพิจารณาคำร้องส่วนใหญ่จะไม่ทันวันเลือกตั้ง เนื่องจากกระบวนการสืบสวนไต่สวนจะต้องมีการสอบถามพยาน ซึ่งคนที่สนใจสามารถอ่านคำวินิจฉัยของ กกต.จะทำให้ทราบกระบวนการพิจารณาคดี จนนำไปสู่การวินิจฉัยต้องใช้เวลา มิเช่นนั้น จะเป็นการเร่งรีบตัดสินใจโดยที่ข้อมูลไม่เพียงพอและไม่เป็นผลดีกับใคร”
ประธาน กกต. ระบุ
ส่วนกรณีที่ กกต.นราธิวาส ขอให้ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 นราธิวาส พรรคเป็นธรรม ปลดป้ายหาเสียงที่มีข้อความ “ปัตตานีจัดการตัวเอง” เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงท้วงติงมานั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน และต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง แต่โดยหลักแล้ว ผู้สมัครจะหาเสียงเกินขอบเขตของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไม่ได้ รวมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่าไม่เป็นประเด็นความเปราะบางในพื้นที่
“ย้ำว่านโยบายของพรรคการเมือง ต้องไปดูมาตรา 57 พ.ร.ป.พรรคการเมือง และมาตรา 74 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดว่าในการหาเสียงของผู้สมัคร และพรรคการเมืองนั้น ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่หากหาเสียงเกินกรอบ ก็เป็นความผิด โดยพรรคการเมืองสามารถชี้แจงต่อ กกต. ได้”
นายอิทธิพร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 66)
Tags: กกต., การเมือง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, นโยบายหาเสียง, พรรคการเมือง, อิทธิพร บุญประคอง, เลือกตั้ง