นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ต.ค.-ธ.ค.65) ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้จัดทำรายงานฯ เพื่อเสนอให้รัฐสภาทราบเป็นรอบสุดท้าย เนื่องจากระยะเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.65 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ก.ย.65
ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้บรรลุผลของการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ แล้ว ดังนี้
1.การดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้านที่เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ดังนี้
– ด้านการเมือง เช่น การจัดทำชุดความรู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบหนังสือสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป, จัดให้มีแอปพลิเคชัน Smart Vote Civic Education เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง และข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง
– ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของการทำงาน และการให้บริการของภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ปัจจุบันมีงานบริการภาครัฐผ่านระบบ e-Service รวม 343 บริการ มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับประชาชน Citizen Portal ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และแพลตฟอร์มกลางสำหรับภาคธุรกิจผ่านเว็บไซต์ (www.bizportal.go.th)
– ด้านกฎหมาย มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น และพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย และสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
– ด้านกระบวนการยุติธรรม มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565 ในการกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เป็นต้น
– ด้านเศรษฐกิจ มีระบบภาษีเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ มีระบบการยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ (e-Filling) และมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.เอฟทีเอ
– ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
– ด้านสาธารณสุข มีคลินิกหมอครอบครัว (PCC:Primary Care Cluster/Telemedicine) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบเรียลไทม์
– ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ มีศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti-Fake News Center:AFNC) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ ไลน์ และเฟซบุ๊ค
– ด้านสังคม มีการจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม กระจายที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้วจำนวน 1,442 ผืน ครอบคลุมพื้นที่ 70 จังหวัด รวมเนื้อที่ 5,757,682 ไร่ อันเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศให้มีที่ดินทำกินรวม 69,368 ราย
– ด้านพลังงาน มีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อปรับกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
– ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ มีระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ด้วยระบบดิจิทัล (e-Complaint and Appeal) และมีระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์ ปัจจุบันมีผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 76 เรื่อง เป็นการแจ้งแบบปกปิดตัวตนจำนวน 66 เรื่อง และเป็นการแจ้งแบบเปิดเผยตัวตนจำนวน 10 เรื่อง
– ด้านการศึกษา มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด
– ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รวมถึงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เช่น ชุมชนแหลมสัก จ.กระบี่ และบ้านเมืองรวง จ.เชียงราย
2.ผลการดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายการปฏิรูปประเทศ โดยเป็นกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวน 45 ฉบับ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.65 ประกอบด้วย กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 10 ฉบับ กฎหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจำนวน 35 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างหน่วยงานของรัฐจัดทำร่างกฎหมายจำนวน 22 ฉบับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการเร่งดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุงให้แล้วเสร็จ และนำเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากแผนการปฏิรูปประเทศสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.65 การดำเนินการในระยะต่อไปนั้น หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องนำประเด็นปฏิรูปประเทศมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง และแผนระดับที่ 3 ได้แก่ แผนปฏิบัติราชการและแผนปฏิบัติการด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 66)
Tags: ปฏิรูปประเทศ, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, อนุชา บูรพชัยศรี