ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ที่มีขีดความสามารถแบบก้าวกระโดดในการเก็บรวบรวม ประมวลผลข้อมูล และถ่ายทอดผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า AI กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลายแวดวงอาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอย่าง “ทนายความ” ก็ต้องเผชิญความท้าทายจากความกังวลใจว่า AI จะเข้ามาแย่งงานอยู่ไม่น้อย วันนี้ผู้เขียนจะชวนมาวิเคราะห์ว่า บทบาทของ AI จะส่งผลต่อวิชาชีพทนายความมากน้อยเพียงใด ?
ในต่างประเทศ พบว่ามีการเริ่มนำ AI และระบบ Machine Learning มาใช้อย่างแพร่หลาย เช่น ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร มีบริษัทพัฒนา ทนายความ AI ชื่อว่า DoNotPay แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ให้บริการช่วยเหลือผู้คนในการสู้คดีทางกฎหมาย โดยมีตัวเทมเพลตแบบฟอร์มจดหมายร้องเรียนและแชทบ็อต AI เพื่อช่วยผู้คนในการขอคืนค่าตั๋วเครื่องบินเมื่อเที่ยวบินยกเลิกหรือล่าช้า รวมถึงการอุทธรณ์เมื่อต้องเสียค่าปรับเกี่ยวกับการจราจรอย่างไม่เป็นธรรม การขอฟ้องร้องเมื่อเจอการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การขอเรียกค่าลิขสิทธิ์ในผลงานของตัวเองที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การเรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ ไปจนถึงการขอให้รัฐเปิดเผยข้อมูลทางราชการ เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงานกฎหมายใหญ่ ๆ ในต่างประเทศบางแห่งก็เริ่มหันมาใช้ AI เพื่อเร่งรัดการทำงานต่าง ๆ ให้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น PricewaterhouseCoopers LLP หรือ PwC ที่ร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้าน AI อย่าง Harvey เป็นเวลา 12 เดือน เพื่อใช้ให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทกว่า 4,000 คนในกว่า 100 ประเทศได้เข้าถึงเทคโนโลยีแชทบ็อต AI ในงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษากฎหมาย ส่วน Allen & Overy สำนักกฎหมายระดับโลกที่ตั้งอยู่ในลอนดอน เป็นบริษัทกฎหมายบริษัทแรกที่นำบริการแชทบ็อต AI มาช่วยทนายความร่างสัญญาสัญญาและบันทึกของลูกค้า
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ หากมีการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Big data มีแนวโน้มว่าเทคโนโลยี AI จะทำหน้าที่ได้ดีกว่ามนุษย์ ในด้านต่อไปนี้
1) การค้นคว้าทางกฎหมาย (Legal Research) เช่น การอ่านเอกสารทางกฎหมาย สืบค้นฎีกา ภายในระยะเวลาอันสั้น
2) การตรวจสอบสัญญา (Contract Review) AI สามารถตรวจข้อผิดพลาดของข้อสัญญา และประมวลข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทนายความทำความเห็นต่อไปได้
3) การทำนายผลลัพธ์ทางคดี (Outcome Prediction) ด้วยความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลทางคดีที่กว้างขวาง AI อาจรวบรวมคลังคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วนำมาเทียบกับข้อเท็จจริงรายคดี เพื่อช่วยทนายความประเมินโอกาสแพ้ชนะคดี
ผู้เขียนมองว่า AI สามารถเป็นเครื่องมือชั้นดีสำหรับทนายความในงานกฎหมายประเภทที่เป็นงานประจำ (Routine) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการทำงานงานปริมาณมากในเวลาที่น้อยลง ในแง่ธุรกิจ นับเป็นผลดีต่อเจ้าของสำนักกฎหมายและบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายที่สามารถลดอัตราการจ้างพนักงานธุรการและเสมียนทนายที่อาจถูกแทนที่ด้วยความก้าวหน้าของ AI ได้ โดยเฉพาะในชั้นเตรียมคดี
อย่างไรก็ดี AI ไม่สามารถมาแทนที่งานของทนายความโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในส่วนงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาคดีในศาล ผู้เขียนมีความเห็นว่า เมื่อทนายความคือผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตและผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความจากสภาทนายความฯ ทนายความย่อมรู้ดีว่าการปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงไม่ใช่แค่เรื่องของตรรกะเหตุผลที่ AI ทำได้ดี แต่ยังมีในเรื่องของเจตนารมณ์เบื้องหลังของกฎหมาย มิติด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมของสังคมในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ดังนั้น ไม่ว่าเทคโนโลยี AI จะพัฒนาไปไกลแค่ไหน ก็ไม่สามารถแทนที่ทนายความซึ่งเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน
อีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อทนายความเป็น “วิชาชีพ” จึงเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะความรู้ความสามารถระดับสูง ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน มีคุณประโยชน์ต่อสังคม เป็นไปได้ยากที่ลูกความจะเชื่อมั่นระบบคอมพิวเตอร์ให้ว่าความแก้ต่างสิทธิเสรีภาพของตนแทนทนายความ เฉกเช่นกับที่ผู้โดยสารยังไม่กล้าให้ระบบขับเครื่องบินแทนนักบิน องค์ประกอบหนึ่งของวิชาชีพคือต้องถูกกำกับดูแลองค์กรวิชาชีพ ลองนึกดูว่า หากมีการอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี AI มาทำหน้าที่ทนายความ ย่อมเกิดความยุ่งยากตามมาอย่างแน่นอนในเรื่องการควบคุมมรรยาทและการลงโทษ
กล่าวโดยสรุป แม้ปัจจุบัน AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในแวดวงกฎหมาย ผู้ประกอบอาชีพด้านกฎหมายควรปรับตัวให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีและหัดใช้ประโยชน์จาก AI ในฐานะเป็น “ตัวช่วย” ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น มิฉะนั้นอาจถูกเลิกจ้างและถูกแทนที่ด้วย AI ได้ แต่การปรับตัวที่ดีที่สุดของทนายความคือการหมั่นแสวงหาความรู้ขั้นสูง พัฒนาความคิดเชิงตรรกะ และยึดมั่นในความยุติธรรมอย่างแท้จริง เพราะนั่นคือสิ่งที่ AI ไม่มีวันทำแทนคุณได้
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
และนายชารีฟ วัฒนะ
ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มบริษัทสำนักงานกฎหมายอเบอร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 66)
Tags: AI, Decrypto, SCOOP, ทนายความ, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, ปัญญาประดิษฐ์