นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชี้แจงประเด็น “อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ใครได้อะไร” ว่า พรรคนำเสนอการอัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท เพื่อต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตถึง 5% ตามศักยภาพที่มีอยู่ เพราะถ้าเศรษฐกิจโตต่ำกว่า 5% จะไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จะไม่สามารถซัพพอร์ทดูแลประชาชนที่ลำบากได้ และที่ผ่านมาเรามาผิดทาง เพราะเรากระตุ้นคนโดยการใช้จ่าย
“พรรคนำเสนอวิธีคิดใหม่ คือ การกระตุ้นนำเงินเก่าที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่กู้เงิน หรือไปก่อหนี้ แต่เป็นการเอาเงินเก่า สินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้ได้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน”
นายพิสิฐ กล่าว
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาทจะอัดเข้าไปในระบบโดยไม่สร้างหนี้ และลดหนี้ครัวเรือนด้วย ประกอบด้วยนโยบายธนาคารหมู่บ้านและชุมชนๆ ละ 2 ล้านบาท วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท, ปลดล็อคกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถซื้อบ้านได้ วงเงิน 3 แสนล้านบาท, กองทุนช่วยเพิ่มทุน SMEs วงเงิน 3 แสนล้านบาท และนโยบายที่ประกาศไปแล้วอีก 13 เรื่อง วงเงินรวม 2.2 แสนล้านบาท
ประธานคณะกรรมการนโยบาย ชี้แจงว่า ในระยะสั้นจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มสภาพคล่องแก้ข้อจำกัดเงินทุนหมุนเวียน โดยแบ่งเป็น กระตุ้นระดับฐานรากด้วยการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชนแห่งละ 2 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ.2562 วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท
ในระดับกลาง จะปลดล็อคกบข. ให้ข้าราชการในวงเงิน 1 แสนล้านบาท และปลดล็อคกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานบริษัทในวงเงิน 2 แสนล้านบาท สามารถนำเงินกองทุนทั้งสองรวม 300,000 ล้านบาท ไปซื้อบ้านหรือลดหนี้ที่อยู่อาศัย
และระดับ SME โดยการเพิ่มทุน SME และ START UP วงเงิน 3 แสนล้านบาท ให้ธุรกิจมีเงินใหม่เพื่อการลงทุน ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาลจะเริ่มทำทันทีภายใน 3 เดือน
นอกจากนี้ พรรคยังมีมาตรการระยะยาวที่จะปรับโครงสร้างและปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต โดยแบ่งเป็น เรื่องของที่ดิน ออกโฉนด 1 ล้านแปลง ให้สิทธิทำกินในที่ดินรัฐ อุดหนุนเงิน 3 ล้านบาทสำหรับการรวมแปลงที่ดินใหญ่
เรื่องประมง ผ่อนคลายมาตรการา IUU, เรื่องแรงงานให้เรียนฟรีถึง ป.ตรี สาขาที่ตลาดต้องการ, เรื่องเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต 1 ล้านจุด
ส่วนมาตรการที่เหลืออีก 6 เรื่องจะมีผลในการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ คือ 1.ประกันรายได้สินค้าเกษตรหลัก 5 ตัว 2.ชาวนารับ 30,000 บาท จากที่ดินไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ 3.ประมงพื้นบ้านกลุ่มละ 100,000 บาท 4.ด้านปศุสัตว์ผู้เลี้ยงโคนมจะได้ประโยชน์จากเรื่องนมโรงเรียน 365 วัน 5.ชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาทต่อปี และ 6.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาพยาลและการตรวจโรคฟรี ซึ่งรวมแล้วคาดว่าจะใช้เงิน 2.2 แสนล้านบาท
ประธานคณะกรรมการนโยบาย กล่าวว่า หลายพรรคการเมืองมีการพูดถึงให้เศรษฐกิจโต 5% แต่ไม่ได้บอกว่าโตอย่างไร แต่ ปชป.โชว์ให้เห็นว่า เรามีกลไกทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างปัญหาในอนาคต หรือเป็นภาระหนี้ที่สูงขึ้น ทำให้หนี้อยู่ในกรอบ เพื่อทำให้ระบบการเงินและเรามั่นคง
“เราจะอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท ให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนในระดับมหภาค โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องลดหนี้ครัว และต้องไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ และปฏิบัติได้จริง เงินมีอยู่แล้ว กฏหมายมีอยู่แล้ว”
นายพิสิฐ กล่าว
นายพิสิฐ กล่าวว่า นโยบายของพรรคถูกเหมารวมว่าเป็นการแจกเงิน 1 ล้านล้านบาทเหมือนกับพรรคการเมืองหนึ่งที่เปิดตัวไป แต่เหตุผลที่พรรคกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่การแจกเงินทั่วๆ ไป แต่เป็นการมองภาพรวมเศรษฐกิจว่าจะเดินต่อไปอย่างไรในภาวะที่ยังมีปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเหลื่อมล้ำ และพรรคตั้งใจจะดูแลภาพรวมเศรษฐกิจอย่างระวัดระวัง
ที่ผ่านมาไทยเริ่มมีปัญหาขาดดุลเดินสะพัด ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ไทยเสียหายมากที่สุด อัตราการเจริญเติบโตของไทยหรือจีดีพีโตช้าสุดในอาเซียนในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้จีดีพียังต่ำกว่า 4 ปีที่แล้วก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19
“จีดีพีเราตอนนี้ลดต่ำลง และยังมีขนาดต่ำกว่าก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้พ้นจากบ่วงกรรมอันนี้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะอัดฉีดเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้จีดีพีโตเกิน 5% ตามศักยภาพที่เรามีอยู่ ซึ่งถ้าโตต่ำกว่าระดับ 5% จะไม่เป็นที่สนใจจจากนักลงทุน โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือลดหนี้ครัวเรือนจากที่แตะ 90%ของจีดีพี และไม่สร้างหนี้สาธารณะจากที่ทะลุ 60%ของจีดีพี เราจะทำให้ระบบการเงินไทยแข็งแรง และมีเงินใหม่เข้ามา เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยต้องทำภายใน 3-4 เดือน ซึ่งเรามีเงิน 8 แสนล้านบาทรออยู่แล้วในระบบการเงินการคลัง ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทจากการปรับโครงสร้างระบบงบประมาณและการบริหารการจัดเก็บรายได้และเงินนอกงบประมาณ”
นายพิสิฐ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 66)
Tags: ปชป., พรรคประชาธิปัตย์, พิสิฐ ลี้อาธรรม, เลือกตั้ง, เศรษฐกิจ