FAO เผยดัชนีราคาอาหารโลกมี.ค.ปรับตัวลง 12 เดือนติด แต่ราคาน้ำตาล-เนื้อสัตว์ยังพุ่ง

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาอาหารทั่วโลกเดือนมี.ค.ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน และลดลง 20.5% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีราคาอาหารทั่วโลกเดือนมี.ค.โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 126.9 จุด ลดลงจากระดับของเดือนก.พ.ที่ 129.7 จุด ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2564

FAO ให้เหตุผลที่ราคาอาหารโลกปรับตัวลงว่าเนื่องมาจากมีการผลิตอาหารที่มากพอ ประกอบกับความต้องการนำเข้าลดลง ตลอดจนมีการขยายข้อตกลงการส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านทางทะเลดำ

FAO กล่าวว่าดัชนีที่ลดลงสะท้อนถึงราคาที่ลดลงในกลุ่มธัญพืช, น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งช่วยหักล้างกับราคาน้ำตาลและเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น

นายแม็กซิโม โตเรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ FAO ระบุในแถลงการณ์ว่า “แม้ราคาอาหารทั่วโลกจะลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงมากและยังคงแพงขึ้นในตลาดภายในบางประเทศ อันเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมต่อความมั่นคงทางอาหาร”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการนำเข้าอาหารสุทธิ ซึ่งถูกซ้ำเติมจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น” นายโตเรโรกล่าวเสริม

ทั้งนี้ ดัชนีราคาธัญพืชของ FAO ในเดือนมี.ค.ปรับตัวลง 5.6% เมื่อเทียบรายเดือน โดยข้าวสาลีลดลง 7.1% ข้าวโพดลดลง 4.6% และข้าวลดลง 3.2%

ด้านดัชนีราคาน้ำมันพืชในเดือนมี.ค.ลดลง 3.0% เมื่อเทียบรายเดือน และลดต่ำกว่า 47.7% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ราคานมลดลง 0.8%

ในทางกลับกัน ราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลว่าอินเดีย, ไทย และจีนมีแนวโน้มจะผลิตได้น้อยลง ส่วนดัชนีราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 0.8%

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top