จีนได้ประกาศแผนแม่บทในการพัฒนาเกาะไห่หนานทั้งหมดให้กลายเป็นท่าเรือการค้าเสรีระดับสูงที่ทรงอิทธิพลในระดับโลกภายในกลางศตวรรษนี้ โดยได้มีการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์มากมาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน เช่น อัตราภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ รวมถึงการผ่อนคลายการเข้าถึงตลาดและการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติ
มณฑลไห่หนานพยายามดึงดูดบรรดาบริษัทข้ามชาติให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ดำเนินกลยุทธ์ผลักดันให้บริษัทในท้องถิ่น “ก้าวออกไป” (Going-Out Strategy) และขยายธุรกิจไปทั่วโลก
ปัจจุบัน มณฑลไห่หนานกำลังสร้างศูนย์ส่งเสริมการค้าและโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อแปรรูปและจัดเก็บสินค้าเกษตรเขตร้อนจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างตลาดสินค้าเขตร้อนทั้งสองแห่ง
ทั้งนี้ อาเซียนขึ้นแท่นเป็นคู่ค้าต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของมณฑลไห่หนาน โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไห่หนานกับอาเซียนมีมูลค่าสูงถึง 3.954 หมื่นล้านหยวน พุ่งขึ้น 58% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไห่หนานได้ส่งเสริมการบูรณาการและนวัตกรรมทางสถาบันอย่างจริงจัง โดยนับจนถึงตอนนี้ เอกสารนโยบายท่าเรือการค้าเสรีมากกว่า 180 ฉบับได้มีผลบังคับใช้แล้ว และมีการเปิดเผยกรณีเกี่ยวกับนวัตกรรมทางสถาบันรวม 134 กรณี
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมโป๋อ่าว ฟอรัม ฟอร์ เอเชีย ยังได้มีการจัดการประชุมว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือเสรีทั่วโลก (Global Free Ports Development Forum) โดยได้มีการเปิดตัวโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตการค้าเสรีทั่วโลก
ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานได้ร่วมมือกับเขตการค้าเสรีนำร่อง 19 แห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ และเขตการค้าเสรี 6 แห่งในต่างประเทศ
มณฑลไห่หนานกำลังเร่งผลักดันการก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรี พร้อมทั้งอ้าแขนรับนักลงทุนจากทั่วโลก ตลอดจนแบ่งปันประโยชน์จากการปฏิรูปและเปิดกว้างอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา การค้าสินค้าและบริการของไห่หนานเติบโตในอัตราเฉลี่ยต่อปี 23.4% และ 17.7% ตามลำดับ และในปี 2565 มณฑลไห่หนานสามารถดึงดูดวิสาหกิจราว 196 รายจากประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้มาตั้งบริษัทที่นี่ ขณะเดียวกัน วิสาหกิจและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปและการผลิตก็เข้ามาลงหลักปักฐานที่นี่อย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 66)
Tags: การค้าเสรี, จีน, ท่าเรือการค้าเสรี, ไห่หนาน