ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เทศกาลสงกรานต์ในปี 2566 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีความคึกคักมากขึ้น โดยในปีนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายพื้นที่กลับมาจัดงานประเพณีสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการกลับมาจัดกิจกรรมสาดน้ำได้ในรอบ 3 ปี และจากผลสำรวจสะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยช่วงวันหยุดยาว 5 วัน ของเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย. 66 (วันที่ 17 เม.ย. 66 เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันสงกรานต์กรณีพิเศษ) น่าจะมีจำนวน 5.1 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 65 นี้ น่าจะมีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตั้งแต่ต้นปี 66 ตลาดไทยเที่ยวไทยฟื้นตัวค่อนข้างดี และกลับมาเติบโตสูงกว่าปี 62 จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 66 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีจำนวนประมาณ 28.1 ล้านคน/ครั้ง เติบโตประมาณ 46.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตประมาณ 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา ทางการได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 จำนวน 5.6 แสนสิทธิ ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 66 ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวไทยอย่างรวดเร็ว และเป็นปัจจัยหนุนการท่องเที่ยวให้เติบโตดีต่อเนื่อง
ในช่วงที่เหลือของปี 66 ตลาดไทยเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มที่ดี โดยกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน แต่การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในระยะข้างหน้า ตลาดยังมีประเด็นที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง โดยแม้กำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังเปราะบางในภาวะที่ปัจจุบันภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันยังทรงตัวสูง
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังมีการแข่งขันสูง สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อีกทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง เช่น ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินในประเทศที่สูง เนื่องจากภาวะต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจส่งผลทำให้มีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ หรือไปยังจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง
ในระยะถัดไป เมื่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศถูกลง และความกังวลเรื่องโควิดหมดไป น่าจะทำให้คนไทยสนใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปตามกระแสตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง รวมถึงปรับกลยุทธ์การตลาดไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนไป รวมถึงการรักษาคุณภาพการให้บริการเพื่อให้ลูกค้าใช้บริการต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจแผนการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ของคนกรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ) พบว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ 44.7% มีแผนเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งหลักๆ จะเป็นกลุ่มผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน และรวมถึงกลุ่มที่ท่องเที่ยวระหว่างเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเยี่ยมญาติพี่น้องด้วย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนเดินทางมีอยู่ 28.3% ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรที่ติดขัด
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด (88.9%) มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังมีสัดส่วนไม่สูง น่าจะมาจากค่าใช้จ่ายการเดินทางต่างประเทศยังสูงเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนการระบาดโควิด และเส้นทางการบินที่ยังมีค่อนข้างจำกัด ทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่กลุ่มตัวอย่างมีแผนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาทิ พัทยา (จ.ชลบุรี) หัวหิน (จ.ประจวบคีรีขันธ์) เกาะช้าง (จ.ตราด) จ.ระยอง จ.ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าผลสำรวจในปีนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวทางภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย มีสัดส่วนที่น้อยกว่าผลสำรวจที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากในช่วงของการสำรวจ หลายจังหวัดทางภาคเหนือกำลังประสบปัญหาหมอกควันจากไฟไหม้ป่า และฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความกังวล จึงหลีกเลี่ยงการเดินทางหรือรอดูสถานการณ์อีกครั้ง
การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 66 ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,250 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 8% จากผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนโควิดระบาด
ทั้งนี้ มองว่าการปรับเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมาจากหลายปัจจัย เนื่องจากในปีนี้หลายพื้นที่กลับมาจัดงานประเพณีสงกรานต์กันอย่างคึกคัก รวมถึงภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานแสดงดนตรี การออกร้าน เป็นต้น ซึ่งช่วยหนุนให้เกิดการใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวได้กลับมาเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวตามปกติ อีกทั้งสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวลดการทำโปรโมชั่นราคาลง
อย่างไรก็ดี แม้การใช้จ่ายต่อคนต่อทริปจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 62 โดยในภาวะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น แม้จะไม่กระทบแผนการเดินทาง แต่กระทบการใช้จ่ายบางประเภท
จากผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกเดินทางท่องเที่ยวปกติ แต่เลือกที่จะปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างลดการใช้จ่ายบางประเภท เช่น การซื้อของฝากและลดกิจกรรมสันทนาการ การวางแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า ทั้งการจองที่พักหรือตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า และเดินทางใปยังจังหวัดใกล้ๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 66)
Tags: ท่องเที่ยว, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สงกรานต์