GCAP ผนึกฐานทุน AO Fund ชูจุดแข็งร่วมตั้ง บล.-บลจ.ดึงต่างชาติเข้าลงทุนเมินแข่งค่า Fee

นายตัน ชุนวี ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้มีอำนาจ Advance Opportunities Fund (AO FUND) เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนในบมจ.จี แคปปิตอล (GCAP) ในสัดส่วน 19.56% ผ่านการออกหุ้นทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งเป็นการเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพให้กับ GCAP ในการขยายธุรกิจกลุ่ม Non-Lending เพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดย GCAP จะถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดยที่ AO Fund จะนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายในด้านธุรกิจ บล.และ บลจ.เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 2 ธุรกิจใหม่ และทาง GCAP มีทีมผู้บริหารที่มีความรู้และความสามารถในตลาดทุน และมี Connection กับบุคคลากรต่างๆในตลาดทุนด้วยเช่นกัน ทำให้สามารถนำมาเสริมกันเพื่อพัฒนา 2 ธุรกิจใหม่ดังกล่าวขึ้น

โดยในช่วงไตรมาส 2/66 บริษัทจะจัดตั้งธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท และจะยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงไตรมาส 3/66 โดยคาดหวังจะได้รับใบอนุญาตทั้ง 2 ธุรกิจ ช่วงไตรมาส 4/66 ก่อนที่จะเริ่มเปิดให้บริการทั้ง 2 ธุรกิจได้ในช่วงในไตรมาส 2/67 ซึ่งทาง AO Fund คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ของธุรกิจบล.อยู่ที่ 10-20% ต่อปี และธุรกิจบลจ. 25-40% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจบล.และบลจ.ในประเทศไทยจะมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมหลายราย และมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ความแตกต่างของธุรกิจ บล. และ บลจ.ที่ทาง AO Fund ร่วมกับ GCAP นั้นจะเป็นรูปแบบของการนำนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเครือข่ายของ AO Fund เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การบริการด้านการลงทุนรองรับการบริการของนักลงทุนในต่างชาติที่เป็นเครือข่ายของ AO Fund ที่อยู่ไนสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เป็นต้น ทำให้การบริการของธุรกิจทั้ง 2 มีความหลากหลาย และขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ทั้งในไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

“เรามองว่าธุรกิจ บล. และ บลจ.เป็นโอกาสในการสร้างการก้าวกระโดดใหม่ให้กับ GCAP เพราะ GCAP เองก็มีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำธุรกิจด้านนี้ และตอนนี้ AO Fund เวลาไปลงทุนอะไรก็ใช้บริการเจ้าอื่นในการลงทุน ก็มองว่าทำไมเราไม่ลงทุนเองกับคนที่มีความพร้อม ทำให้เราสามารถต่อยอดสิ่งที่เรามีอยู่ได้ จึงเป็นที่มาของธุรกิจที่ร่วมกับ GCAP ที่จะช่วยเป็นสปริงบอร์ดให้กับการเติบโตของ GCAP ได้ และสร้างความแตกต่างในอุตสาหกรรมด้านตลาดทุน และตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิค รวมถึงตลาดหุ้นไทย ถือว่ามีสภาพคล่องการซื้อขายที่สูง และมีผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสในการทำธุรกิจ” นายตัน ชุนวี กล่าว

ด้านการคิดค่าคอมมิชชั้นในการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความท้าทายในการทำธุรกิจ บล. แต่มองว่าธุรกิจ บล.ของ GCAP จะมีความเป็น Niche Market เมื่อเทียบกับ บล.อื่นๆ ซึ่งอาจจะมีการคิดค่าธรรมเนียมในการให้บริการที่สูงกว่ามาเป็น 1% จากที่ค่าธรรมเนียมของตลาดในการบริการซื้อขายหลักทรัพย์ราว 0.1% แต่ทางบริษัทจะให้ออปชั่นเสริมเข้ามาในการให้บริการแก่ลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถมีบริการต่างๆที่พิเศษและเพิ่มขึ้นเข้ามามากกว่าการใช้บริการจากผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด

นายอนุวัตร โกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GCAP กล่าวว่า บริษัทได้มีการกำหนดแผนธุรกิจร่วมกับ AO FUND สำหรับดำเนินธุรกิจร่วมกันในระยะยาว โดยผนึกความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย แตกไลน์ธุรกิจ จัดตั้งบริษัทย่อยประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร สร้างรายได้นอกเหนือจากธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ที่ GCAP ได้ดำเนินการมายาวนานกว่า 18 ปี ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจใหม่ จะเข้ามาสนับสนุนในธุรกิจ Non-Lending ที่จะมีนัยสำคัญต่อการสร้างกำไรให้กับ GCAP ในระยะกลาง-ยาว ที่เสริมเข้ามาจากธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจให้สินเชื่อการเกษตร

ปัจจุบันธุรกิจ บล.และ บลจ.อยู่ระหว่างการคัดเลือกชื่อที่เหมาะสมในการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งจะประกาศออกมาในเร็วๆนี้ และมั่นใจว่าจากศักยภาพและความชำนาญของ AO Fund ที่เข้ามาช่วยเสริมในธุรกิจใหม่ จะสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กับผลงานของ GCAP ได้ และฟี้นธุรกิจของ GCAP ให้กลับมาดี และช่วยกระจายความเสี่ยงของธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น

สำหรับธุรกิจสินเชื่อการเกษตรที่เป็นธุรกิจหลักของ GCAP ในช่วงไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา ถือว่ามีการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามที่บริษีทคาดไว้ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเกษตรกรเริ่มเตรียมตัวในการทำการเกษตรมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มกลับมา อีกทั้งในแง่ของคุณภาพหนี้ของลูกหนี้ของ GCAP ก็เห็นทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้มีลูกหนี้กลับมาทยอยชำระคืนหนี้เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง

ส่วนความคืบหน้าการสร้างสนามบินเกาะเต่าปัจจุบันใกล้รวบรวมที่ดินที่จะรองรับการสร้างสนามบินครบตามแผนราว 100 ไร่ แต่การก่อสร้างอาจจะต้องก่อสร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องมีการรักษาดูแลในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆเกาะเต่า เพราะเกาะเต่าเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว มีคนมาดำน้ำ ซึ่งต้องมีการก่อสร้างอย่างระมัดระวัง แต่ยังคาเว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 66 ซึ่งรันเวย์ของสนามบินเกาะเต่า จะรองรับเครื่องบินขนาดเล็กไม่เกิน 11-14 ที่นั่ง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top