ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าบวกเป็นส่วนใหญ่ หลังราคาน้ำมันพุ่ง นลท.จับตาข้อมูลศก.

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าบวกเป็นส่วนใหญ่ในวันนี้ หลังราคาน้ำมันพุ่งขานรับการตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ขณะที่นักลงทุนประเมินข้อมูลการผลิตสำคัญในภูมิภาค

ทั้งนี้ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ระดับ 20,279.54 จุด ลดลง 120.57จุด หรือ -0.59% ขณะที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,291.06 จุด เพิ่มขึ้น 18.20 จุด หรือ +0.56% และดัชนีนิกเกอิปิดภาคเช้าที่ระดับ 28,149.89 จุด เพิ่มขึ้น 108.41 จุด หรือ +0.39%

ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าลดลง หลังจากที่ไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของจีน อยู่ที่ระดับ 50 ลดลงจากระดับ 51.6 ในเดือนก.พ. เนื่องจากการผลิตชะลอตัวลงและอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแรงลง

ไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (3 มี.ค.) ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของจีนอยู่ที่ระดับ 50 ลดลงจากระดับ 51.6 ในเดือนก.พ. เนื่องจากการผลิตชะลอตัวลงและอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแรงลง

ข้อมูลดังกล่าวของไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลออกมาสอดคล้องกับที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของจีนอยู่ที่ระดับ 51.9 ลดลงจากระดับ 52.6 ในเดือนก.พ. โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าความหวังที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นอาจลดน้อยลง ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแรงลง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังคงชะลอตัว

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงมีการขยายตัว

สัญญาฟิวเจอร์น้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) และสัญญาฟิวเจอร์น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นสูงถึง 8% หลังโอเปกพลัสตกลงลดการผลิตน้ำมันดิบอีกกว่า 1 ล้านบาร์เรลวันจนถึงสิ้นปี 2566

โอเปกพลัส ประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจดังกล่าวของโอเปกพลัสจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง และอาจสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตน้ำมัน

ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่า โอเปกพลัสจะคงนโยบายการผลิตน้ำมันด้วยการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 2566

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การตัดสินใจครั้งล่าสุดนี้ ส่งผลให้ปริมาณการปรับลดการผลิตน้ำมันโดยรวมของโอเปกพลัสอยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก โดยแถลงการณ์ของกลุ่มโอเปกพลัสระบุว่า การปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจครั้งนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพ.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2566

อินเดีย และเกาหลีใต้เตรียมเปิดเผยข้อมูลการผลิตจากผลสำรวจภาคเอกชน ขณะที่ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์จะเปิดเผยตัวเลขการผลิตอย่างเป็นทางการสำหรับเดือนมี.ค.

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top