ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ยังมีความน่าเป็นห่วง แต่ยังมีโอกาสจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมองว่าการส่งออกสินค้าของไทย จะยังหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งสะท้อนจากเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ (QuantCube International Trade Index) ในเดือน มี.ค. ที่ยังบ่งชี้ว่าการค้าโลกอ่อนแอลงต่อเนื่อง
โดยการค้าระหว่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอิตาลี อ่อนแอลงตั้งแต่ปลายปี 65 และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยของฐานสูง ที่จะมีผลไปจนถึงช่วงกลางปีนี้ โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. ที่มีปัจจัยฐานสูงสุดเป็นประวัติการณ์
SCB EIC มองว่า ภาคการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์มากขึ้น จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนของจีนหลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ซึ่งน่าจะเริ่มส่งผ่านมายังอุปสงค์การนำเข้าสินค้ามากขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีนที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ชะลอลงบ้างในช่วงต้นปีผลจากเทศกาลตรุษจีน
รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเติบโตได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ช่วงปลายปีก่อน ดังนั้น SCB EIC จึงคงประมาณการการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 66 ไว้ที่ 1.2%
อย่างไรก็ดี มองว่าการส่งออกสินค้าของไทย มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปที่หากลุกลาม อาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น อีกทั้งความมั่งคั่งของผู้บริโภค (Wealth Effect) มีแนวโน้มลดลงจากความผันผวนในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงตาม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการส่งออกสินค้าไทยเดือนก.พ.66 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -4.7% โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกเมื่อหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) พบว่า การส่งออกในเดือนก.พ.66 หดตัวเพียง -2.5%
ขณะที่การส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตร และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร กลับมาขยายตัวได้ โดยสินค้าเกษตรกลับมา ขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ที่ 1.5% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ที่ 5.6% ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ยังหดตัวตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -6.2%
ส่วนภาพรวมตลาดส่งออกของไทยในเดือน ก.พ.66 มีความแตกต่างกันมาก โดยการส่งออกไปตลาดตะวันตก ปรับแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปตลาดจีน และตลาดศักยภาพใหม่ของไทยปรับตัวดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 66)
Tags: SCB EIC, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย