ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
“พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของผู้ฟ้องคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนจัดทำรายงานการสอบสวนให้แล้วเสร็จตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป” คำพิพากษา ระบุ
คดีนี้ รฟท.ฟ้องว่า ขอให้อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด โดยมีคำขอให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกหนังสือแสดงสิทธิทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีในพื้นที่บริเวณดังกล่าว และขอให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหายปีละ 707,595,034 บาท และค่าขาดประโยชน์รายเดือน เดือนละ 58,966,253 บาท นับถัดจากวันฟ้อง
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมที่ดินมีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และอธิบดีที่ดิน ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของกรมที่ดินให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8พ.ย. 2462 เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของรฟท.
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของ รฟท. และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557
ประกอบกับคำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของ รฟท. รฟท.จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า อีกทั้งที่ดินบริเวณที่ศาลมีคำพิพากษากล่าวอ้างถึงมีฐานะเป็นที่ดินของรัฐซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่
ประกอบกับ รฟท.ได้ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินของ รฟท.ประมาณ 850 แปลง แต่ รฟท.ดำเนินการคัดถ่ายเอกสารมาได้บางส่วนจำนวน 497 แปลง อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของคณะทำงานตามคำสั่งกรมที่ดินที่ 822/2565 ลงวันที่ 4 เมษายน 2565 ว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบข้อมูลหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีอ้างสิทธิในเบื้องต้นพบว่า มีการออกโฉนดที่ดินจำนวนประมาณ 396 ฉบับ หนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวนประมาณ 376 ฉบับ รวมเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 772 ฉบับ กรณีจึงเป็นความปรากฏขึ้นจากการที่ รฟท.ได้มีหนังสือร้องขอให้อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินว่าได้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน อธิบดีกรมที่ดินก็สามารถมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินไปก่อนได้ โดยไม่จำต้องรอให้ตรวจสอบพบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมดหรือพบข้อเท็จจริงจนชัดแจ้งแล้วจึงจะมีคำสั่งแต่งตั้ง ดังนั้นกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินจึงละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
เมื่อที่ดินพิพาทในคดีนี้ยังไม่มีการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและคืนสิทธิในที่ดินให้แก่ รฟท.ได้ครอบครองที่ดิน และไม่ปรากฏว่า รฟท.ได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะใด จึงยังไม่อาจถือได้ว่า รฟท.ได้รับความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด ส่วนความเสียหายที่ รฟท.กล่าวอ้างว่าสามารถนำออกให้เช่าหรือทำประโยชน์ได้ตามระเบียบ รฟท. ฉบับที่ 129 ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคตของ รฟท. ในกรณีที่มีการนำที่ดินออกทำประโยชน์แล้วเท่านั้น กรณีจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินทำละเมิดต่อ รฟท.ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรมที่ดินจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 66)
Tags: กรมที่ดิน, การรถไฟแห่งประเทศไทย, คำพิพากษา, บุรีรัมย์, รฟท., ศาลปกครอง, สอบสวน, เขากระโดง