บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยว หนุนศก.ไทยก.พ.โตต่อเนื่อง แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10.1% และ 9.8% ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 11.8% และ 4.0% ตามลำดับ ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 9.1%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 51.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และสูงสุดในรอบ 36 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -1.5%

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -10.0% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 1.0% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 0.2% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.7% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 5.4%

มูลค่าการส่งออกสินค้า ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.7% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ลดลงเพียง -0.05% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้สินค้าส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง

อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และน้ำตาลทราย โดยขยายตัว 95.0% 61.6% และ 21.4% ตามลำดับ รวมทั้งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ขยายตัว 81.7% 15.7% และ 3.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ ตลาดฮ่องกง ตะวันออกกลาง และอินเดีย ที่ขยายตัว 28.6% 23.8% และ 3.9% ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 8.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ 2.4% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.7% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 2.1% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 96.2 ซึ่งสูงสุดในรอบ 47 เดือน จากระดับ 93.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.11 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1,283.3% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 16.5% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 20.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 31.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 8.9%

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 3.79% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.93% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 61.3% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 0.57% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 217.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top