นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66-19 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 1,730,976 ราย สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 228,870 ราย กลุ่มโรคที่พบสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนลดระยะเวลาหรืองดการออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น, งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ, อยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ ให้อยู่ในห้องปลอดฝุ่น, สังเกตอาการเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ให้รีบไปพบแพทย์
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 17 จังหวัด และพื้นที่ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 6 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน และพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่
พร้อมดำเนินงานตามแนวทาง “3 มาตรการ 10 กิจกรรมสำคัญ” ได้แก่
1. มาตรการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฝ้าระวังสถานการณ์และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ, เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ, ยกระดับการสื่อสารเชิงรุก, สร้างความรอบรู้และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
2. มาตรการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง, เปิดคลินิกมลพิษ/จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น, จัดระบบปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อดูแลประชาชน
3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยมีระบบบัญชาการเหตุการณ์เมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤต, ส่งเสริมและขับเคลื่อนกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 และส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ
สำหรับจังหวัดเชียงราย ขณะนี้สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5 โดยให้สถานบริการในสังกัดปรับระบบบริการตามบริบทพื้นที่ เช่น
– เลื่อนนัดผู้ป่วยตามความเหมาะสม และจัดส่งยาให้ทางไปรษณีย์ เพื่อลดการเดินทาง
– ให้การรักษาผ่านระบบ Telemedicine
– จัดเตรียมสถานที่เป็นห้องสะอาด เพื่อเป็น Safety zone พื้นที่ปลอดฝุ่น สำหรับเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการ
– สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันแก่บุคลากรในการปฏิบัติงานและผู้มารับบริการ
– จัดระบบการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และประชุมสื่อสารผ่านระบบออนไลน์
– กำชับเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน พร้อมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 66)
Tags: ฝุ่น PM2.5, มลพิษ, โอภาส การย์กวินพงศ์