งานวิจัยล่าสุดซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า รัฐบาลจีนได้ปล่อยเงินกู้จำนวนมากถึง 2.40 แสนล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา 22 ประเทศในช่วงปี 2551-2564 โดยปริมาณการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลายประเทศประสบกับความยากลำบากในการจ่ายคืนเงินกู้ที่ใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road)
งานวิจัยดังกล่าวซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่าง World Bank, Harvard Kennedy School, AidData และ Kiel Institute for the World Economy ระบุว่า เกือบ 80% ของเม็ดเงินที่จีนปล่อยกู้ในช่วงปี 2559-2564 นั้น ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งรวมถึงอาร์เจนตินา, มองโกเลีย และปากีสถาน
เม็ดเงินจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ที่จีนปล่อยกู้ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ปริมาณการปล่อยกู้ลดน้อยลงนับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากหลายโครงการไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามความคาดหมาย
“จีนกำลังใช้ความพยายามอย่างสุดกำลังในการกอบกู้วิกฤตธนาคารของตนเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่จีนต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากการปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ” นายคาร์เมน ไรน์ฮาร์ท อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ World Bank และเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัยฉบับนี้
งานวิจัยยังระบุด้วยว่า จีนปล่อยกู้ให้กับประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยปล่อยกู้ไม่ถึง 5% ของพอร์ตการปล่อยกู้ต่างประเทศในปี 2553 เป็น 60% ในปี 2564 โดยอาร์เจนตินาได้รับเงินกู้มากที่สุดถึง 1.118 แสนล้านดอลลาร์ รองลงมาคือปากีสถาน 4.85 หมื่นล้านดอลลาร์ และอียิปต์ 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศอื่น ๆ อีก 9 ประเทศได้รับไม่เกิน 1 พันล้านดอลลาร์
ทางด้านธนาคารกลางจีนได้จัดสว็อปไลน์ (Swap Lines) เพื่อจัดหาสภาพคล่องวงเงิน 1.70 แสนล้านดอลลาร์ให้กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงซูรินาม, ศรีลังกา, และอียิปต์ นอกจากกนี้ ธนาคารของรัฐบาลจีนยังจัดหาเงินกู้ระยะสั้น (bridge loan) วงเงิน 7 หมื่นล้านดอลลาร์ด้วย
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางบางแห่งมีแนวโน้มที่จะใช้โครงการสว็อปไลน์ของธนาคารกลางจีนในการเสริมสภาพคล่องในระบบเงินทุนสำรองของตนเอง
นายแบรด พาร์คส์ หนึ่งในผู้จัดทำงานวิจัยฉบับนี้และเป็นผู้อำนวยการของ AidData ซึ่งเป็นห้องทดลองการวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย William & Mary College ในสหรัฐกล่าวว่า “การที่จีนปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในโครงการ Belt & Road เป็นการดำเนินการที่ขาดความชัดเจนและขาดการประสานงานที่ดี”
งานวิจัยยังระบุด้วยว่า การให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้นั้น ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ประเทศรายได้ปานกลางซึ่งได้รับเงินกู้ในสัดส่วน 4 ใน 5 ของการปล่อยกู้ เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่องบดุลบัญชีของธนาคารจีน ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำได้รับการผ่อนผันชำระหนี้ (grace period) และขยายเวลาการชำระคืนเงินกู้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 66)
Tags: จีน, ปล่อยกู้, สหรัฐ