ดาวโจนส์ปิดบวก 132.28 จุด ขานรับเฟดยืนยันไม่เกิดวิกฤตสภาพคล่อง

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (24 มี.ค.) หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นที่ได้ช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคาร

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,237.53 จุด เพิ่มขึ้น 132.28 จุด หรือ +0.41%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,970.99 จุด เพิ่มขึ้น 22.27 จุด หรือ +0.56%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,823.96 จุด เพิ่มขึ้น 36.56 จุด หรือ +0.31%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.2%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.4% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1.7%

หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยหุ้นกลุ่มปลอดภัย อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มการเงินเป็นเพียงหุ้นสองกลุ่มที่ปรับตัวลง

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวผันผวนระหว่างวันเช่นเดียวกับในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 ตัวเริ่มต้นการซื้อขายด้วยการร่วงลงอย่างหนักตามการทรุดตัวของหุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรป

อย่างไรก็ตาม ตลาดได้แรงหนุนจากการที่ประธานเฟดระดับภูมิภาค 3 คนระบุว่า พวกเขาเชื่อมั่นว่า ระบบธนาคารไม่ได้เผชิญกับวิกฤตสภาพคล่อง ซึ่งได้ทำให้เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เมื่อวันพุธ โดยประธานเฟด 3 คนดังกล่าวได้แก่ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์, นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา และนายโทมัส บาร์กิ้น ประธานเฟดสาขาริชมอนด์

ตลาดถูกกดดันในช่วงแรกจากการที่หุ้นธนาคารดอยซ์แบงก์ของเยอรมนีดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

ดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค พุ่งขึ้น 2.9% แต่หุ้นดอยซ์แบงก์ในตลาดสหรัฐร่วงลง 3.1% และหุ้นธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ อาทิ เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค, เวลส์ ฟาร์โก้ ยังคงปิดลบ แต่ก็ได้ลดช่วงติดลบลง ขณะที่ธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ปิดบวก

หุ้นธนาคารระดับภูมิภาค อาทิ แพคเวสต์ บันคอร์ป, เวสเทิร์น อัลไลแอนซ์ แบงคอร์ป พุ่งขึ้น 3.2% และ 5.8% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (FRB) ลดลง 1.4%

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารยังฟื้นตัวขึ้น หลังจากนายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวในวันศุกร์ว่า ดอยซ์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก นักลงทุนจึงไม่ควรคาดเดาเกี่ยวกับอนาคตของทางธนาคาร

นักวิเคราะห์หลายรายยังได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเช่นกัน โดยระบุว่า ดอยซ์แบงก์จะไม่กลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปจากเครดิต สวิส โดยธนาคารมีกำไรถึง 5 พันล้านยูโร (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 159% เมื่อเทียบกับปี 2564 และสามารถทำกำไรถึง 10 ไตรมาสติดต่อกัน

สำหรับหุ้นรายตัวอื่น ๆ อาทิ หุ้นแอคทิวิชัน บลิซซาร์ด พุ่งขึ้น 5.9% หลังหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอังกฤษได้คลายความวิตกบางส่วนเกี่ยวกับการทำข้อตกลงซื้อกิจการระหว่างไมโครซอฟท์และแอคทิวิชัน บลิซซาร์ด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top