ศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัยกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ในบางมาตราออกไปหลังมีผลบังคับใช้ โดยมีคำสั่งให้ ครม.และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จัดทำความเห็นตามประเด็นที่ศาลกำหนดส่งกลับมาให้ภายใน 15 วัน
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (1) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 27 วรรคสาม ให้คณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจัดทำความเห็นตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด โดยจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ” คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากมี ส.ส.จำนวน 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 22 ก.พ.66 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป
โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 66)
Tags: คณะรัฐมนตรี, ครม., ผบ.ตร., ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พ.ร.บ.อุ้มหาย, ศาลรัฐธรรมนูญ